Business

‘บัตรแรบบิท’ ใช้กลยุทธ์เชื่อม ล้อ-ราง-เรือ 10 เส้นทาง 6 จังหวัด ดันยอดใช้พุ่งพรวด

“BTS” คุยฟุ้ง! ยอดถือ “บัตรแรบบิท” พุ่งทะลุ 13 ล้านใบ หลังใช้กลยุทธ์เชื่อม ล้อ-ราง-เรือ 10 เส้นทาง 6 จังหวัดได้ผล แถมอัดโปรฯ ค่าโดยสาร เชื่อมต่อแบรนด์ดัง

รถไฟฟ้า บีทีเอส 1

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เปิดเผยว่า ยอดสะสมการออกบัตรแรบบิท ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ประมาณ 13 ล้านใบ เพิ่มขึ้นประมาณ 4.05 ล้านใบ จากปี 2561 ซึ่งมียอดสะสมอยู่ที่ 8.95 ล้านใบ เป็นผลจากแนวทางการขยายการใช้งานบัตรแรบบิท

โดยปัจจุบันการใช้งานบัตรแรบบิทครอบคลุมระบบขนส่งมวลชน ทั้งรถไฟฟ้า, รถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) รถไมโครบัส และเรือ ในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ, สมุทรปราการ, นนทบุรี, นครปฐม, เชียงใหม่ และภูเก็ต ประกอบด้วย 1. รถไฟฟ้า BTS 2. รถโดยสารด่วนพิเศษ BRT 3. รถโดยสารไมโครบัส Y70E  ศาลายา – หมอชิต 4. รถเมล์ RTC ซิตี้บัส นนทบุรี 5. เรือข้ามฟากท่ามหาราช – ท่าพระจันทร์ 6. เรือคลองภาษีเจริญ  7. รถเมล์ RTC ซิตี้บัส เชียงใหม่ 8. รถภูเก็ตสมาร์ทบัส จังหวัดภูเก็ต

ล่าสุดยังร่วมกับบริษัท สมาร์ทบัส จำกัด นำร่องใช้บัตรแรบบิทบนรถเมล์สาย 104 ปากเกร็ด – หมอชิต 2 และสาย 150 ปากเกร็ด – บางกะปิ พร้อมส่วนลด 2 บาทต่อเที่ยว ตั้งแต่ 19 พฤศจิกายน 62 – 31 มีนาคม 2563 ส่งผลให้ขณะนี้บัตรแรบบิทใช้เดินทางขนส่งสาธารณะได้มากถึง 10 การเดินทาง

สุรพงษ์ เลาหะอัญญา

สำหรับระบบรถไฟฟ้า BTS นั้น ผู้โดยสารส่วนใหญ่เดินทางด้วยบัตรแรบบิทมากถึง 70% ของจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 9 แสนเที่ยวคนต่อวัน โดยมีส่วนลดค่าโดยสาร BTS เป็นแรงจูงใจสำคัญ ส่วนที่เหลือเป็นการใช้งานบัตรโดยสารเที่ยวเดียวประมาณ 29% และบัตรโดยสารประเภทหนึ่งวันประมาณ 1%

“นอกจากจุดแข็งเชื่อมโยง 10 การเดินทางแล้ว บัตรแรบบิทยังมีจุดแข็งด้านการใช้จ่าย คือ มีส่วนลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS ทั้งแบบเติมเงินและแบบเติมเที่ยวเดินทาง และยังรองรับการใช้จ่ายมากกว่า 300 แบรนด์ดัง 1,000 กว่าร้านค้า และร้านอาหารชั้นนำ ซึ่งร้านค้าเหล่านี้มีสาขาครอบคลุมพื้นที่สำคัญในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด เมื่อใช้จ่ายแล้วยังสามารถแลกคะแนนสะสมรับของรางวัลได้อีก ทั้งหมดนี้ทำให้คาดจะมีผู้ใช้งานบัตรแรบบิทเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายสุรพงษ์

Avatar photo