Business

ทุนใหญ่ไล่ฮุบรายย่อย จับตา ‘รถเมล์กรุงเทพฯ’ ถึงคราวเปลี่ยนผ่านเป็นฟีดเดอร์รถไฟฟ้า

สัปดาห์ที่แล้วมีข่าวเล็กๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา “คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง” มีมติเห็นชอบการออกใบอนุญาตประกอบกิจการรถเมล์ใหม่จำนวน 9 เส้นทาง ซึ่งนับเป็นการออกใบอนุญาตตามแผนการปฏิรูปรถเมล์เป็นครั้งแรก หลังจากรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมพยายามผลักดันเรื่องนี้มาหลายปี

fig 25 06 2019 09 54 33

หลังจากประชุมจบลง “จิรุตม์ วิศาลจิตร” รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ได้ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า เส้นทางที่มีการอนุมัติใบอนุญาตในครั้งนี้เป็นเส้นทางเดิม ที่มีผู้เดินรถเพียงรายเดียว โดยการออกใบอนุญาตจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

1.เส้นทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ สาย A1 ดอนเมือง-จตุจักร และสาย A2 ดอนเมือง-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

2.เส้นทางของเอกชน จำนวน 7 เส้นทาง ได้แก่ สายปากเกร็ด-จตุจักร, สายปากเกร็ด-มีนบุรี, สายวัดปรางค์หลวง (บางใหญ่) –บางเขน, สายท่าอิฐ-รามคำแหง, สายวงกลมเคหะธนบุรี-บางแค และสายเคหะธนบุรี-สถานีรถไฟธนบุรี

สำหรับเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตในครั้งนี้ ก็เป็นผู้ประกอบการรายเดิม ที่วิ่งรถอยู่ในเส้นทางดังกล่าวอยู่แล้ว แต่เอกชนอาจจะไปหาทุนใหม่ หรืออาจจะยกเส้นทางให้ทุนใหม่เลย หรืออาจจะร่วมทุนกัน เพราะเงื่อนไขใบอนุญาตกำหนดให้เอกชนต้องจัดหารถเมล์ใหม่เป็นสัดส่วน 70% ของฟลีทภายใน 3 ปี ซึ่งผู้ประกอบรายเดิมอาจมีเงินทุนไม่เพียงพอต่อการลงทุน

fig 25 06 2019 09 54 10

“สมาร์ทบัส” คว้า 50 เส้นทาง

แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดลึกลงไปกลับพบว่า เอกชนที่ได้รับใบอนุญาตทั้ง 7 เส้นทาง ล้วนเป็นผู้ประกอบการรายเดียวกัน โดย “ธานี สืบฤกษ์” รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า เอกชนรายดังกล่าวคือ “บริษัท สมาร์ทบัส จำกัด”

The Bangkok Insight สอบถามไปยัง “ภัทรวดี กล่อมจรูญ” นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง (สมาคมรถร่วมฯ) ถึงเรื่องดังกล่าว ซึ่ง “ภัทรวดี” ได้ให้ข้อมูลว่า รถเมล์เอกชนร่วมบริการ (รถร่วมฯ) ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ที่มีผลประกอบการขาดทุน บางรายถูกขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) จึงไม่สามารถยื่นเงินกู้มาซื้อรถเมล์ใหม่ได้ด้วยตัวเอง

กลุ่มรถร่วมฯ จึงต้องวิ่งหาแหล่งเงินทุน ซึ่งก็มีทุนใหญ่แสดงความสนใจจะร่วมลงทุนประมาณ 3 ราย ตามที่มีข่าวก่อนหน้านี้ แต่ล่าสุดก็มีความชัดเจนแล้วว่า ผู้ประกอบการรถร่วมฯ ประมาณ 30 ราย ทั้งที่อยู่ในและนอกสมาคมฯ ซึ่งถือใบอนุญาตประกอบกิจการรถเมล์ประมาณ 50 เส้นทาง จะเข้าร่วมกับบริษัท สมาร์ทบัส

โดยรายย่อยที่เข้าร่วมกับบริษัท สมาร์ทบัส จะต้องไปยกเลิกกิจการเดิม แล้วโอนสิทธิ์การเดินรถไปให้สมาร์ทบัส จากนั้นสมาร์ทบัสจะยื่นขอใบอนุญาตการประกอบกิจการเดินรถใหม่ในเส้นทางเดิม ส่วนผู้ประกอบการรายเดิมก็จะใช้ประสบการณ์มาช่วยบริหารกิจการต่อ

fig 16 09 2019 11 19 53

การที่ผู้ประกอบการรวมตัวกันก็ทำให้ได้การควบคุมดูแลดีขึ้น ทั้งตัวพนักงานและคุณภาพการให้บริการ 

เชื่อรถเมล์กรุงเทพฯ จะดีขึ้น

ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดี เพราะถ้าไม่มีรายใหญ่ รายย่อยก็ไม่มีแหล่งเงินทุน และการควบรวมให้เหลือผู้ประกอบการน้อยราย ก็จะทำให้คุณภาพของรถเมล์ในกรุงเทพฯ ดีขึ้น สอดคล้องกับนโยบายการปฏิรูปรถเมล์

“ภาพรวมนโยบายการปฏิรูปรถเมล์ของกรมการขนส่งทางบก ต้องการให้เหลือผู้ประกอบการน้อยราย เพื่อให้ดูคุณภาพได้  การที่ผู้ประกอบการรวมตัวกันก็ทำให้ได้การควบคุมดูแลดีขึ้น ทั้งตัวพนักงานและคุณภาพการให้บริการ  ที่ผ่านมายอมรับว่ามีผู้ประกอบรายย่อยจำนวนมาก ทำให้การดูแลคุณภาพเป็นไปได้ยาก” ภัทรวดี กล่าว

เร่งยื่นขอใบอนุญาตใหม่

สำหรับบทบาทของสมาคมรถร่วมฯ ในขณะนี้ ก็คือประสานกับกรมการขนส่งทางบกเพื่อยื่นขอใบอนุญาตใหม่ โดยล่าสุดคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางเพิ่งเห็นชอบใบอนุญาตใหม่ของบริษัท สมาร์ทบัส ไปเพียง 7 เส้นทางเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 43 เส้นทาง ก็ต้องเร่งยื่นเรื่องให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 มิเช่นนั้น ผู้ประกอบการรายเดิมจะถูกตัดสิทธิ์ เพื่อนำเส้นทางไปออกประกาศเชิญชวนเป็นการทั่วไป

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของบริษัท สมาร์ทบัส ไม่ได้ผูกขาดรถร่วมฯ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้งหมด เพราะรถร่วมฯ ที่เข้าร่วมกับสมาร์ทบัส ถือใบอนุญาตเพียง 50 เส้นทาง คิดเป็น 50% จากใบอนุญาตของรถร่วมฯ ที่มีทั้งหมด 102 เส้นทาง

S 85680154

หวังปั้นรถเมล์เป็น “ฟีดเดอร์”

ด้านแหล่งข่าวจากวงการรถเมล์ เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการที่ยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการรถเมล์ตามแผนการปฏิรูป จะต้องจัดหารถเมล์ใหม่มาให้บริการ 70% ของ ฟลีท ซึ่งผู้ประกอบการรถร่วมฯ ส่วนใหญ่ไม่สามารถลงทุนได้เอง เพราะต้องลงทุนต้องใช้เงินสูงถึงคันละ 4 ล้านบาท และรัฐบาลก็ไม่ได้ช่วยหาแหล่งเงินทุนให้ อีกทั้งอัตราค่าโดยสารก็ไม่สะท้อนต้นทุน เพราะแม้รถเมล์ใหม่จะมีอัตราค่าโดยสารเพิ่มเป็น 15-25 บาทต่อเที่ยว แต่ต้นทุนก๊าซธรรมชาติ (NGV) ก็กำลังจะปรับสูงขึ้นเป็น 16 บาทต่อกิโลกรัมในเร็วๆ นี้เช่นกัน

ผู้ประกอบการรายย่อยหลายสิบราย จึงตัดสินสินขายกิจการให้ทุนใหญ่ “ในราคาไม่แพง” โดยบริษัท สมาร์ทบัส ก็เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สนใจเข้ามาลงทุนด้วย ในช่วงนี้จึงถือเป็นการเปลี่ยนผ่านของกิจการรถเมล์ในกรุงเทพฯ จากธุรกิจรายย่อยสู่มือรายใหญ่ ซึ่งก็เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนได้ใช้รถเมล์ใหม่และได้รับบริการดีขึ้น

ภายในวงการยังมีการพูดคุยกันอีกว่า ผู้ประกอบการด้านขนส่งมวลชนรายใหญ่สนใจเข้ามาลงทุนซื้อกิจการรถเมล์ จากผู้ประกอบการย่อย เพื่อทำหน้าที่ป้อนผู้โดยสารให้กับระบบรถไฟฟ้า (Feeder) มากกว่าหวังกำไรจากธุรกิจการเดินรถเมล์โดยตรง ขณะเดียวกันก็จะนำรถเมล์ที่เคยมีปัญหาเรื่องการจัดซื้อกับ ขสมก. มาวิ่งให้บริการด้วย เพราะก็นับว่าเป็นรถเมล์ใหม่ที่มีอายุไม่เกิน 2 ปีตรงตามเงื่อนไข

“ปัจจุบันกลุ่มรถเมล์และมินิบัสทั่วทั้งกรุงเทพฯ มีผู้ประกอบการรายย่อยอยู่ประมาณ 100 ราย แต่หลังจากนี้เอกชนที่อยู่ไม่ได้ จะหายไป สุดท้ายประเมินว่าผู้ประกอบการในธุรกิจนี้จะลดลงเหลือ 30-40 ราย” แหล่งข่าวกล่าว

Capture 15

เปิดชื่อผู้ถือหุ้นสมาร์ทบัส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท  ทริปเปิ้ลบี โลจี้สติค จำกัด ได้จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2561 ต่อมาได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท สมาร์ทบัส จำกัด เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2562 โดยมีทุนจดทะเบียน 80 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้นจำนวน 4 คน ได้แก่

1.นางศุภรานันท์ ตันวิรัช อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาสเตอร์แอด จำกัด (มหาชน) หรือ MACO

2.นายอนพัทย์ ทวีวิไลศิริกุล

3.บริษัท เกคโค่ โฮลดิ้ง จำกัด

4.น.ส.อินทิรา ช่วยสนิท กรรมการ (บอร์ด) บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ TSI

สำหรับบอร์ดบริษัท สมาร์ทบัส ประกอบด้วย

1.นางศุภรานันท์ ตันวิรัช

2. นายอนพัทย์ ทวีวิไลศิริกุล

3. นายธเนษฐ โลจนะโกสินทร์ บอร์ดบริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ PLAN B

4. น.ส.อินทิรา ช่วยสนิท

Avatar photo