The Bangkok Insight

จับตา ‘แบน/ไม่แบน?’ พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส

โดยพื้นฐานแล้วไม่มีใครปฏิเสธว่าการใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด ทั้ง พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ไม่เป็นอันตราย ต่อคนและสิ่งแวดล้อม แต่หลายปีที่ผ่านมาการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดไม่มีแรงมากพอ จนเมื่อกระแสสุขภาพมาแรง สารพัดโรครุมเร้าผู้คน

ปังด้วยผลการสุ่มตรวจ พบสารเคมีตกต้างในผัก และผลไม้ในท้องตลาด ทำโดยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ที่ออกมาเป็นระยะ ทำให้การแบนสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิดมีน้ำหนัก การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในวันที่ 27 ตุลาคมนี้ จึงเป็นที่จับจ้องชนิดร่ายกันเป็นรายบุคคล ว่ากรรมการคนไหนโหวตอย่างไร ใครสวนกระแสเวลานี้น่าจะ “อยู่ยาก”

20.กินเจ 01 01 01 01 01 ตัด

มาดูกันว่าทำไมหลายๆประเทศทั่วโลกแบนสารเคมีอันตราย โดยเฉพาะพาราควอตที่มีถึง 58 ประเทศทั่วโลกแบนไปแล้ว เพราะการตกค้างในอาหารที่เราบริโภคกันทุกวันนั่นเอง

Thai-PAN ออกตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผัก และผลไม้ ประจำปี 2562 มีการเก็บตัวอย่างตั้งแต่ 25 มีนาคม – 5 เมษายน 2562 ที่ห้างโมเดิร์นเทรดชั้นนำ และตลาดสดในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ รวม 287 ตัวอย่าง ก่อนจะส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO-17025 ที่สหราชอาณาจักร

ผลการวิเคราะห์พบว่าในประเภท “ผัก” 178 ตัวอย่าง มีจำนวน 40% ที่มีสารเคมีตกค้างเกินกว่ามาตรฐาน สัดส่วน 16% พบสารเคมีตกค้างแต่ไม่เกินมาตรฐาน และ 44% ไม่พบสารเคมีตกค้าง ผักที่พบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานในตัวอย่างมากที่สุด คือ กวางตุ้ง รองลงมาคือคะน้า กะเพรา ผักชี พริก กะหล่ำดอก ผักชี

IMG 20191013 173544

ขณะที่ประเภท “ผลไม้” ที่พบการตกค้างมากที่สุดคือ “ส้ม” ที่พบสารเคมีตกค้างในทุกตัวอย่าง รองลงมาคือชมพู่ ฝรั่ง องุ่น

และเมื่อการแบนไม่แบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ยืดเยื้อมานานหลายปี ขณะที่การหาสารทดแทน และรณรงค์ให้เกษตรกรใช้ก็ไม่ได้ทำอย่างจริงจัง หลายหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขจึงต้องออกโรง ตอกย้ำ ถึงพิษภัยของสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิด และขึ้นป้ายรณรงค์หน้าโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อกดดันคณะกรรมการวัตถุอันตราย

IMG 20191012 095335 2

สำหรับพิษภัยของสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิด ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขตอกย้ำว่า

พาราควอต มีพิษเฉียบพลันสูง และยังไม่มียาถอนพิษ

คลอร์ไพริฟอส เป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืช ผลิตภัณฑ์ในบ้านเรือนกำจัดมด ปลวก เห็บแมลงสาบ พบตกค้างสูงสุดในกลุ่มสารกำจัดแมลง ทำให้เกิดความผิดปกติด้านพัฒนาสมอง ไอคิวเด็กลดลง สมาธิสั้น หลายประเทศห้ามใช้ในบ้านเรือน ผักผลไม้

ไกลโฟเสต เป็นสารกำจัดวัชพืช หรือยาฆ่าหญ้า องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็ง มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเพิ่มมากขึ้น 22 โรค เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัลไซเมอร์ เป็นต้น

ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สถิติตัวเลขมาตลอด 2 ปีว่า สารเคมีดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ทั้งผู้ที่สัมผัสกับสารพิษทางตรง และผู้ได้รับสารพิษทางอ้อมจากภาวะสารตกค้างตามธรรมชาติ

โดยมีรายงานผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา สาเหตุจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนี้จากการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยตรง

ปี 2559 มีผู้ป่วยจำนวน 4,876 รายเสียชีวิต 606 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 22.19 ล้านบาท

ปี 2560 มีผู้ป่วย 4,916 ราย เสียชีวิต 579 ราย เบิกจ่าย ค่ารักษา 21.85 ล้านบาท

ปี 2561 มีผู้ป่วย 4,736 ราย เสียชีวิต 601 ราย เบิกจ่าย ค่ารักษา 21.78 ล้านบาท

IMG 20191013 173708

ส่วนปีล่าสุด 1 ตุลาคม 2561-17 กรกฎาคม 2562  พบผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโดยมีสาเหตุจากการได้รับ สารเคมีกำจัดศัตรูพืช จำนวน 3,067 ราย เสียชีวิต 407 ราย เบิกจ่ายค่ารักษากว่า 14.64 ล้านบาท แยกเป็น

1. ยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต และคาร์บาเมต (organophosphate and carbamates insecticides) จำนวน 705 ราย เสียชีวิต 58 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 4.27 ล้านบาท

2. ยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าเชื้อรา (Herbicides and fungicides) จำนวน 1,337 ราย เสียชีวิต 336 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 6.79 ล้านบาท

3. สารเคมีทางการเกษตรประเภทอื่นๆ จำนวน 1,025 ราย เสียชีวิต 13 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 3.57 ล้านบาท

ทั้งนี้ไม่นับรวมผลกระทบทางอ้อมในระยะยาวจากการมีสารเคมีดังกล่าวตกค้างในสิ่งแวดล้อม

ขณะที่กรมควบคุมโรค อีกหน่วยงานที่ออกมารณรงค์สนับสนุนให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายสูง 3 ชนิด ภายในปี 2563 มอบให้กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม เร่งเผยแพร่องค์ความรู้ทางหลักวิชาการ และดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยย้ำถึงผลกระทบต่อประชากรกลุ่มเสี่ยงหลักคือ ผู้ฉีดพ่นสารเคมีดังกล่าว และผู้ทำงานในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งส่วนมากเป็นเพศชาย โดยความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับปริมาณและช่องทางการสัมผัส ดังนี้

1. ทางการหายใจ ทำให้เลือดกำเดาไหล และระคายเคืองเยื่อบุโพรงจมูก

2. ทางการรับประทาน อาจมีแผลไหม้ในช่องปาก ระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หัวใจเต้นเร็ว

3. ทางผิวหนัง หรือเนื้อเยื้ออ่อน อาจมีตุ่มน้ำพองตามบริเวณที่สัมผัส หากสัมผัสทางผิวหนังในปริมาณมากอาจดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และจะมีอาการคล้ายกับการสัมผัสทางการรับประทานได้ หากมีแผลเปิดจะทำให้สารพิษซึมเข้าสู่ร่างกายได้เร็วขึ้น

DDC003 รองกรมควบคุมโรค

นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า สารเคมีทั้ง 3 ชนิด เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบ ต่อสุขภาพของประชาชน รวมทั้งเด็กในครรภ์มารดา กรมควบคุมโรค และหน่วยงานในสังกัดทุกแห่ง จึงไม่เห็นด้วยกับการใช้สารเคมีเหล่านี้ และพร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ทางหลักวิชาการ รวมถึงสร้างความเข้าใจให้กับผู้ผลิตและผู้บริโภค เพื่อพี่น้องประชาชนคนไทยมีสุขภาพที่ดี

ข้อมูลเชิงประจักษ์ถึงผลกระทบต่อสุขภาพ จากหน่วยงานที่ดูแลสุขภาพคนไทยโดยตรง ออกมาจับมือประสานเสียงกันขนาดนี้แล้ว คณะกรรมการวัตถุอันตราย จะสวนกระแสสังคมยื้อไม่ “แบน” ต่อไป อาจต้องตอบคำถามสังคมเยอะหน่อย

Avatar photo