Business

‘กทพ.’ แจงยิบปมประมูล ‘ด่วนพระราม 3’ ลั่นยึดมาตรฐานกรมบัญชีกลาง  

กทพ. แจงยิบทีโออาร์ประมูล “ทางด่วนพระราม 3” ลั่นยึดมาตรฐานกรมบัญชีกลาง พร้อมเปิดกว้างให้ผู้รับเหมาชิงงานก่อสร้างสะพานขึง

ทางด่วน2

จากรณีที่บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ส่งหนังสือร้องเรียนถึงการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกระทรวงคมนาคม เพื่อขอให้ปรับปรุงเอกสารการประมูล (TOR) โครงการก่อสร้างทางพิเศษ (ทางด่วน) สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก สัญญาที่ 1-5 ราคากลางรวม 30,029 ล้านนั้น

นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า คณะทำงานได้ดำเนินการร่างทีโออาร์ทั้งหมดตามมาตรฐานกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง

สำหรับกรณีสัญญาที่ 4 งานโยธาสะพานขึง ซึ่งไม่ได้กำหนดทีโออาร์ให้เหมือนสัญญาที่ 1-3 นั้น เนื่องจากคณะทำงานได้นำเสนอว่า ในประเทศไทยมีสะพานขึงอยู่ 5 แห่ง โดยในจำนวนนี้ 4 แห่งมีลักษณะเหมือนกัน ยกเว้นสะพานพระราม 9 เพียงแห่งเดียว ที่มีลักษณะเป็นคานเหล็กและนำแท้งค์วาง ดันนั้นการทางพิเศษฯ ก็ต้องเขียนทีโออาร์เปิดกว้างเพื่อให้เกิดการแข่งขัน

ส่วนกรณีที่มีข้อกังวลว่า ทีโออาร์อาจเปิดช่องให้ผู้รับเหมาที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือนอมินีเข้ามาดำเนินงานนั้น นายสุชาติกล่าวว่า ทีโออาร์ได้กำหนดคุณสมบัติผู้เข้าประมูลไว้แล้ว ซึ่งเอกชนจะต้องผ่านคุณสมบัติดังกล่าวก่อน จึงสามารถเข้าร่วมประมูลได้

สุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์2
สุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

แหล่งข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงข้อร้องเรียนของ ช.การช่าง ว่า การทางพิเศษฯ จะต้องตอบข้อร้องเรียนดังกล่าวไปยังเอกชนและจะต้องชี้แจงเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) ในปลายเดือนเมษายนด้วย โดยเบื้องต้นจะชี้แจงข้อร้องเรียนเป็นรายประเด็นดังนี้

1.ข้อร้องเรียนว่า ทีโออาร์สัญญาที่ 1-4 ไม่มีการกำหนดระยะเวลาของผลงานก่อสร้างที่แล้วเสร็จ ซึ่งจะนำมาใช้เป็นคุณสมบัติในการเข้าประมูล

การทางพิเศษฯ ขอชี้แจงว่า ทีโออาร์ได้กำหนดประสบการณ์และมูลค่าผลงานของเอกชนไว้แล้ว ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวน่าจะเพียงพอให้เอกชนสามารถดำเนินการตามสัญญาได้ ไม่เกิดมีปัญหาใดๆ

2.ข้อร้องเรียนว่า ทีโออาร์สัญญาที่ 4 ไม่มีกำหนดมูลค่าผลงานก่อสร้างที่แล้วเสร็จ เพื่อนำมาใช้เป็นคุณสมบัติด้านผลงานก่อสร้าง

การทางพิเศษฯ ขอชี้แจงว่า สัญญาที่ 4 เป็นงานก่อสร้างสะพานขึง ซึ่งในประเทศไทยเคยมีการก่อสร้างเพียง 5 แห่ง ได้แก่ สะพานพระราม 9, สะพานพระราม 8, สะพานภูมิพล, สะพานกาญจนาภิเษก และสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ (สะพานนนทบุรี 1)

การก่อสร้างสะพานขึงจึงเป็นงานที่มีผู้รับเหมาน้อยราย ถ้าหากกำหนดมูลค่าผลงานอีก ก็อาจเป็นการกีดกันเอกชนได้ ดังนั้นจึงได้เขียนทีโออาร์เปิดกว้าง เพื่อให้มีผู้แข่งขันมากรายและโปร่งใส

ทางด่วน 3

3.ข้อร้องเรียนว่า ทีโออาร์กำหนดให้เสนอราคาต่อหน่วยปรับลดเป็นสัดส่วนกับราคาต่อหน่วยที่การทางพิเศษฯ กำหนดในราคากลาง

การทางพิเศษฯ ขอชี้แจงว่า การทางพิเศษฯ ใช้วิธีคำนวณข้อเสนอแบบนี้มาโดยตลอด เพื่อให้สามารถคำนวณตัวเลขข้อเสนอได้ง่ายและมั่นใจว่าตัวเลขราคากลางที่ใช้คำนวณก็สมเหตุสมผล ซึ่งการทางพิเศษฯ ก็ได้ชี้แจงประเด็นนี้กับกรมบัญชีกลางแล้ว

4.ข้อร้องเรียนว่า ทีโออาร์สัญญาที่ 5 กำหนดให้ผู้เข้าร่วมประกวดราคาต้องมีหนังสือแต่งตั้งเป็นตัวแทนหรือหนังสือรับรองจากผู้ผลิตอุปกรณ์

การทางพิเศษฯ ขอชี้แจงว่า สาเหตุที่ต้องกำหนดทีโออาร์ในลักษณะดังกล่าว เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจว่าผู้ชนะการประมูลสามารถทำงานได้ ถ้าหากในอนาคตอุปกรณ์เกิดความเสียหาย ก็มีผู้รับผิดชอบชัดเจน

ทางด่วน

สำหรับกรณีที่บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด ขอให้ปรับแก้ถ้อยคำในการประมูลสัญญาที่ 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร และระบบสื่อสารเพื่อให้เปิดกว้างมากขึ้นนั้น แหล่งข่าวว่าเบื้องต้นทราบว่าทีโออาร์กำหนดให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านมาตรฐานยุโรปหรืออเมริกา ซึ่งถ้าหากเป็นผลิตภัณฑ์ประเทศจีนหรือญี่ปุ่นที่ผ่านมาตรฐานดังกล่าว หรือเทียบเคียงมาตรฐานดังกล่าว ก็สามารถเข้าร่วมประมูลได้

 

‘ช. การช่าง’ ร้องประมูล ‘ด่วนพระราม3’ อ้างทีโออาร์ส่อเอื้อประโยชน์ผู้รับเหมามาตรฐานต่ำ

เริ่มแล้ว! เปิดประมูลก่อสร้าง ‘ด่วนพระราม3’ ตั้งเป้าเปิดใช้ต้นปี 65

Avatar photo