Business

‘ช. การช่าง’ ร้องประมูล ‘ด่วนพระราม3’ อ้างทีโออาร์ส่อเอื้อประโยชน์ผู้รับเหมามาตรฐานต่ำ

“ช.การช่าง” ร่อนหนังสือร้องประมูล “ทางด่วนพระราม 3” อ้าง 4 ประเด็นในทีโออาร์ส่อเอื้อประโยชน์ผู้รับเหมามาตรฐานต่ำหรือนอมินี ด้าน “สี่แสงการโยธา” ขอปรับทีโออาร์สัญญา 5 ชี้กีดกันทางการค้า

ทางด่วน 2

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้เปิดจำหน่ายเอกสารการประมูล (TOR)  โครงการก่อสร้างทางพิเศษ (ทางด่วน) สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมานครด้านตะวันตก สัญญาที่ 1 – 4 งานโยธา ด้วยการประกวดราคานานาชาติ (International Competitive Bidding) ระหว่างวันที่ 7 มีนาคม – 23 เมษายน และสัญญาที่ 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทางระบบควบคุมจรจาจรและระบบสื่อสาร ด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) ระหว่างวันที่ 5 มีนาคม – 2 เมษายน 2562 นั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ได้ทำหนังสือถึงนายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการการทางพิเศษฯ, นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษฯ, บอร์ดทางพิเศษฯ และนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อขอให้ทบทวนทีโออาร์โครงการก่อสร้างทางด่วนพระราม 3ฯ ทั้งหมด ตั้งแต่สัญญาที่ 1 – 5 เนื่องจากพบปัญหาในทีโออาร์ทั้งหมด 4 ประเด็น ดังนี้

สุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์2
นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

1.ทีโออาร์สัญญาที่ 1 – 4 ไม่มีการกำหนดระยะเวลาของผลงานก่อสร้างที่แล้วเสร็จ ซึ่งจะนำมาใช้เป็นคุณสมบัติในการเข้าประมูล แตกต่างจากการประกวดราคานานาชาติสำหรับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่โดยทั่วไป ที่จะมีการกำหนดระยะเวลาผลงานก่อสร้างที่แล้วเสร็จ ซึ่งจะนำมาใช้เป็นผลงานเข้าร่วมประกวดราคา โดยระยะเวลาดังกล่าวต้องมีความเหมาะสม ไม่นานจนเกินไป เพราะผลงานที่แล้วเสร็จนานจนเกินไป อาจมีลักษณะการดำเนินงานและวิธีการก่อสร้างที่ล้าสมัย ไม่เหมาะสมกับงานที่จะประกวดราคาในปัจจุบัน และอาจทำให้เจ้าของงานไม่สามารถตรวจสอบรายละเอียดของผลงาน รวมถึงศักยภาพของผู้เข้าร่วมประกวดราคาได้จริงว่าสอดคล้องกับงานที่จะประกวดราคาหรือไม่

ทั้งนี้ การกำหนดระยะเวลาผลงานก่อสร้างที่แล้วเสร็จ เป็นทางปฏิบัติในโครงการประกวดราคานานาชาติ สำหรับงานก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ โครงการรถไฟทางคู่ โครงการสนามบิน เป็นไปตามแนวทางการประกวดราคานานาชาติที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน โดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA)  ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)  และธนาคารโลก (World Bank)

การที่ทีโออาร์นี้ไม่กำหนดระยะเวลาผลงานก่อสร้างที่แล้วเสร็จ จะทำให้การทางพิเศษฯ มีโอกาสได้ผู้รับจ้างที่ไม่มีศักยภาพและไม่มีประสบการณ์ผลงานก่อสร้างตรงกับงานที่ประกวดราคา จะส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของโครงการ และจะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วมประกวดราคาบางราย ซึ่งมีคุณสมบัติไม่เหมาะสม  ไม่มีศักยภาพดำเนินการได้จริง และจะเกิดการฟ้องร้องตามมา

ทางด่วน2

2.ทีโออาร์สัญญาที่ 4 ไม่มีกำหนดมูลค่าผลงานก่อสร้างที่แล้วเสร็จ เพื่อนำมาใช้เป็นคุณสมบัติด้านผลงานก่อสร้าง ซึ่งในการประกวดราคานานาชาติสำหรับโครงการขนาดใหญ่ โดยทั่วไปจะมีการกำหนดมูลค่าผลงานก่อสร้างที่แล้วเสร็จ ซึ่งจะนำมาใช้เป็นผลงานของผู้เข้าร่วมประกวดราคา ในกรณีที่เป็นกิจการร่วมค้า จะมีการกำหนดมูลค่าผลงานก่อสร้างที่แล้วเสร็จสำหรับผู้นำกลุ่มและสมาชิกในกลุ่ม

แนวทางดังกล่าวเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ผู้เข้าประกวดราคามีประสบการณ์ ผลงานสอดคล้องกับงานที่จะเข้าประกวดราคา มีศักยภาพที่จะทำให้งานแล้วเสร็จได้จริง โดยเป็นไปตามแนวปฏิบัติของ JICA, ADB และ World Bank

การที่ทีโออาร์สัญญาที่ 4 ไม่กำหนดมูลค่าผลงานก่อสร้างที่แล้วเสร็จสำหรับสมาชิกในกลุ่มจะทำให้การทางพิเศษฯ มีโอกาสได้ผู้รับเหมาที่ไม่ศักยภาพและประสบการณ์ผลงานก่อสร้างตรงกับงานที่ประกวดราคา ส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของโครงการ นอกจากนี้ยังขัดแย้งกับสัญญาที่ 1 -3 ซึ่งมีการกำหนดมูลค่าผลงานก่อสร้างที่แล้วเสร็จสำหรับสมาชิกในกลุ่ม

“การกำหนดทีโออาร์เช่นนี้ยังเป็นการแสดงเจตนาที่จะเอื้อประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วมประกวดราคาบางรายที่ไม่มีศักยภาพจริง ซึ่งอาจจะเข้าร่วมประกวดราคา เพราะต้องการได้งานเพื่อขายงานต่อหรือเป็นนอมินี (Nominee) ให้แก่บริษัทต่างชาติ ทำให้เกิดการฟ้องร้อง ส่งผลเสียต่อการดำเนินงานของการทางพิเศษฯ และทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเป็นอย่างมาก”

ทางด่วน 3

3.การกำหนดให้เสนอราคาต่อหน่วยปรับลดเป็นสัดส่วนกับราคาต่อหน่วยที่การทางพิเศษฯ กำหนดในราคากลาง ซึ่งในการประกวดราคานานาชาติ ผู้เข้าร่วมประกวดราคาจะมีอิสระในการแข่งขัน สามารถเสนอราคาให้เหมาะสมกับต้นทุนค่างานที่จะประกวดราคา และทำให้เจ้าของงานสามารถตรวจสอบได้

การกำหนดให้เสนอราคาปรับลดเป็นสัดส่วนกับราคาต่อหน่วยที่การทางพิเศษฯ กำหนดในราคากลางเป็นการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม ทำให้การทางพิเศษฯ ไม่สามารถตรวจสอบราคาที่ผู้เข้าร่วมประกวดราคาเสนอได้ว่ามีความเหมาะสม ครบถ้วน ถูกต้องหรือไม่ นอกจากนี้จะทำให้เกิดปัญหาในการระหว่างการดำเนินงาน เพราะอาจมีการตรวจสอบและร้องเรียนว่าราคาที่จ้างไม่สมเหตุสมผลที่จะต้องดำเนินการได้จริง

4.ทีโออาร์สัญญาที่ 5 กำหนดให้ผู้เข้าร่วมประกวดราคาต้องมีหนังสือแต่งตั้งเป็นตัวแทนหรือหนังสือรับรองจากผู้ผลิตอุปกรณ์ ซึ่งโดยปกติในการประกวดราคาก่อสร้าง งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร และระบบสื่อสาร ผู้เข้าร่วมประกวดราคาจะต้องหาระบบที่เหมาะสมเพื่อเสนอให้เจ้าของงานพิจารณา ซึ่งอาจเสนอได้จากหลายผู้ผลิต

โดยทั้งหมดจะต้องผ่านข้อกำหนดทางวิศวกรรมตามทีโออาร์ แต่ไม่ควรกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประกวดราคาต้องเป็นตัวแทนหรือมีหนังสือรับรองจากผู้ผลิตอุปกรณ์ ในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่มีการติดตั้งงานระบบที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้าสายต่างๆ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) รถไฟทางคู่ ซึ่งงานระบบมีมูลค่าสูงมาก ยังไม่มีการกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประกวดราคาต้องได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนของผู้ผลิตอุปกรณ์แต่อย่างใด

การกำหนดทีโออาร์เช่นนี้เป็นการกีดกันผู้เข้าร่วมประกวดราคาและเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตัวแทนผู้ผลิตอุปกรณ์ ขัดต่อหลักการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และจะทำให้เกิดการฟ้องร้อง ส่งผลเสียต่อการดำเนินงานของการทางพิเศษฯ และทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

“จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น บริษัทขอเรียนว่า หากเงื่อนไขและข้อกำหนดในทีโออาร์ทั้ง 5 สัญญานี้ไม่ได้รับการแก้ไขให้เหมาะสม จะเป็นบรรทัดฐานการดำเนินงานที่ไม่ถูกต้อง เป็นการจงใจเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เข้าร่วมประกวดราคาที่ไม่มีศักยภาพ เป็นต้นเหตุทำให้เกิดการขยายงานในลักษณะนิมินีที่เป็นนิติกรรมอำพราง เอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการต่างชาติ ทำให้เกิดการฟ้องร้อง ร้องเรียน และตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้โครงการของการทางพิเศษฯ ไม่ประสบความสำเร็จ เกิดปัญหา ส่งผลเสียต่อรัฐ ประเทศชาติและเศรษฐกิจโดยรวม บริษัทเชื่อมั่นว่าความเห็นของบริษัทดังกล่าวข้างต้นนี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐ และการดำเนินงานของการทางพิเศษฯ จึงใครขอให้การทางพิเศษฯ ได้โปรดพิจารณาทบทวนทีโออาร์ทั้ง 5 สัญญานี้ให้เหมาะสม”

ทางด่วน 1

ร้องทีโออาร์งานระบบส่อกีดกันทางการค้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจาก ช. การช่างแล้ว ด้านบริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด ก็ได้ส่งหนังสือลงวันที่ 20 ธันวาคม 2561 ถึงนายสุชาติ ผู้ว่าการทางพิเศษฯ แสดงความเห็นต่อการประกาศเชิญชวนโครงการก่อสร้างทางด่วนพระราม3ฯ สัญญาที่ 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร และระบบสื่อสาร

โดยหนังสือได้ตั้งคำถามกับการทางพิเศษฯ ว่า ในการกำหนดผลงานผู้ยื่นข้อเสนอ ผู้ยื่นข้อเสนอราคาจะต้องมีผลงานและประสบการณ์ด้านการติดตั้งระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ (ETC) พร้อมด้วยระบบเครื่องจ่ายบัตร (TD) หรือ ระบบตู้จ่ายบัตรอัตโนมัติ (ATD) หรือไม่ เนื่องจากตามรายละเอียดของเอกสารของโครงการฯ จะต้องมีการดำเนินงานดังกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันระบบเก็บค่าผ่านทางมีหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ดังนั้นในการกำหนดผลงานควรกำหนดรายละเอียดของระบบให้ชัดเจน เพื่อให้ได้ผู้รับจ้างที่มีประสบการณ์ตรงกับงานในสัญญาที่จะจ้าง เป็นไปตามแนวทางของกรมบัญชีกลางตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างปี 2560

นอกจากนี้บริษัท สี่แสงการโยธาฯ ได้ส่งอีกหนังสือลงวันที่ 10 มกราคม 2562 ถึงผู้ว่าการทางพิเศษฯ ขอให้ปรับแก้ถ้อยคำเรื่องคุณสมบัติบางอย่างในทีโออาร์ เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น เช่น บทที่ 4 งานระบบเครื่องกล ซึ่งกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ที่เสนอจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์จากประเทศกลุ่มยุโรปหรืออเมริกา ซึ่งบริษัทฯ ขอให้ตัดถ้อยคำดังกล่าวออก เนื่องจากเป็นการกีดกันทางการค้า

 

เริ่มแล้ว! เปิดประมูลก่อสร้าง ‘ด่วนพระราม3’ ตั้งเป้าเปิดใช้ต้นปี 65

Avatar photo