World News

วิกฤติโบอิงเอื้อประโยชน์คู่แข่ง ‘จีน-รัสเซีย’

คำสั่งห้ามบินเครื่องบินโบอิงรุ่น 737 แม็กซ์ จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ถือเป็นการสร้างโอกาสให้กับคู่แข่งในจีน และรัสเซีย ที่จะรุกเข้ามาแข่งขันในตลาดเครื่องบินลำตัวแคบ ในช่วงเวลาที่สายการบินจำนวนมากกำลังทบทวนถึงปัญหาที่เกิดจากเครื่องบินอเมริกันอยู่

โบอิ้ง 737

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า มีสายการบินจำนวนมากที่กำลังหยิบยกเรื่องการสั่งซื้อเครื่องบินโบอิง 737 แม็กซ์ ขึ้นมาพิจารณาใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงานระบุว่า การูดา อินโดนีเซีย สายการบินแห่งชาติอินโดนีเซีย อาจจะยกเลิกคำสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นนี้จำนวน 49 ลำ ตามรอยสายการบินอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ อาทิ เวียดเจ็ท แอร์ สายการบินราคาประหยัดจากเวียดนาม มาเลเซีย แอร์ไลน์ส ของมาเลเซีย และไลอ้อน แอร์ สายการบินราคาประหยัดของอินโดนีเซีย ที่เครื่องบิน 737 แม็กซ์ 8 ของบริษัทตกเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว

อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีสายการบินรายใด ที่ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการ ยกเลิกคำสั่งซื้อเครื่องบินทางเดินเดียวรุ่นนี้ ที่โบอิงระบุว่า เป็นเครื่องบินที่ขายได้เร็วสุดในประวัติศาสตร์ของบริษัท ด้วยยอดสั่งซื้อราว 5,000 ลำ จากลูกค้ามากกว่า 100 ราย

ปกติแล้วทางเลือกอื่นนอกจากโบอิง จะจำกัดอยู่แค่เครื่องบินในตระกูล เอ320 ของแอร์บัส ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้ผลิตทั้ง 2 รายนี้ แข่งขันกันอย่างดุเดือดในตลาดเครื่องบินทางเดินเดียว โดยเมื่อปีที่แล้ว แอร์บัสมียอดจำหน่ายเครื่องบินเอ 320 แซงหน้าโบอิง 737 ด้วยตัวเลข 626 ลำต่อ 580 ลำ

แม้ในขณะนี้ แอร์บัสจะยังคงสงวนท่าทีปิดปากเงียบ เกี่ยวกับกรณีเครื่องบิน 737 แม็กซ์ ของโบอิง ตก 2 ลำซ้อนในเวลาห่างกันไม่กี่เดือน แต่ราคาหุ้นของผู้ผลิตสัญชาติยุโรปรายนี้ ก็ทะยานขึ้นมาแล้วเกือบ 7%

กระนั้นก็ตาม สายการบินเครื่องบินเอ 320 อยู่ในภาวะเต็มกำลังการผลิตแล้ว ที่ราว 50 ลำต่อเดือน ทั้งยังมียอดขายล่วงหน้าอีกเกือบ 6,000 ลำ และแอร์บัสก็ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะเพิ่มการจัดส่งได้ในทันที

01
เครื่องบินรุ่นเอ 320 ของแอร์บัส

ภาวะดังกล่าว ถือเป็นการเปิดโอกาศให้กับผู้เล่นจากจีน และรัสเซีย ที่จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างในส่วนนี้

หลังจากมีคำสั่งห้ามบินเครื่อง 737 แม็กซ์ออกมา คอมเมอร์เชียล แอร์คราฟท์ คอร์ป หรือ โคแมค ผู้ผลิตเครื่องบินจีน ได้ให้สัมภาษณ์กับสื้อท้องถิ่น ถึงเป้าหมายของบริษัทที่จะเข้าร่วมในตลาดเครื่องบินโลก ด้วยเครื่องบินแบบ 2 เครื่องยนต์ รุ่นซี919

อู๋ กวงฮุย รองประธานบริหารโคแมค และหัวหน้าผู้ออกแบบเครื่องบินรุ่น ซี919 กล่าวว่า บริษัทได้ยื่นขอใบรับรองคุณภาพในยุโรป และหวังว่าจะได้รับอนุมัติภายใน 3-4 ปี
ทั้งนี้ ซี919 ทำการทดลองบินครั้งแรกในปี 2560 และตั้งเป้าที่จะได้ใบรับรองจากเจ้าหน้าที่ควบคุมความปลอดภัยทางการบินของจีน ในปี 2564 และถ้ายุโรปอนุมัติใบรับรองให้ ก็จะยิ่งเพิ่มความน่าเชื่อในเครื่องบินรุ่นนี้มากขึ้น

จนถึงขณะนี้ มีรายงานว่า โคแมคได้รับคำสั่งซื้อซี919 มากถึง 800 ลำแล้ว รวมถึง คำสั่งซื้อจากสายการบินเปิดใหม่นอกประเทศจีน

36abf8ee 0b33 11e7 a583 12dbfb8db239 780x526
ซี 919 จากโคแมค

ส่วนที่รัสเซียนั้น เออร์คุท ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของรัสเซีย ได้พัฒนาเครื่องบินลำตัวแคบ รุ่นเอ็มซี-21 ขึ้นมา ตั้งเป้าที่จะได้รับใบรับรองเครื่องบินภายในต้นปีหน้า ซึ่งเอ็มซี -21 ทดสอบการบินเที่ยวแรกเมื่อปี 2560 และเพิ่งเสร็จสิ้นการทดสอบบินรอบที่ 3 ไปเมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา

เออร์คุท บริษัทในเครือรอสเทค รัฐวิสาหกิจด้านเทคโนโลยีของรัฐบาลรัสเซีย ตั้งเป้าจะขายเครื่องบินรุ่นนี้ในประเทศ และในกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียตเป็นหลัก โดยคาดว่าจะทำยอดขายได้ถึง 1,000 ลำ ภายในปีช่วงทศวรรษ 2030

แต่อุปสรรคของรัสเซียอยู่ตรงที่ว่า มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากสหรัฐ และยุโรป จำกัดกระบวนการจัดหาชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์นอกกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียต อันทำให้เกิดความล่าช้าในด้านการพัฒนา และทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น

Avatar photo