COVID-19

‘เดลตาครอน’ โควิดกลายพันธุ์ลูกผสม น่ากังวลแค่ไหน

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศเมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมาว่า นักวิทยาศาสตร์พบเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ที่เป็นลูกผสมของเชื้อกลายพันธุ์เดลตา และโอไมครอน ทำให้สายพันธุ์นี้ มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการที่เรียกขานกันทั่วไปว่า “เดลตาครอน” (Deltacron) แม้ทางองค์การอนามัยโลก ยังคงใช้รหัสเรียกชื่อเชื้อตัวนี้ว่า AY.4/BA.1 ก็ตาม

บีบีซี รายงานว่า ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อเดลตาครอนในยุโรป สหรัฐ และอเมริกาใต้ แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญยังไม่แน่ใจว่า เชื้อลูกผสมนี้มีฤทธิ์ร้ายแรง จนทำให้มันแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าเก่า หรือไม่ ทั้งยังไม่ทราบว่า เชื้อไวรัสลูกผสมนี้ สามารถต่อต้านวัคซีน หรือทำให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรงขึ้นได้หรือไม่ด้วย

เดลตาครอน

ต้นกำเนิด “เดลตาครอน” และการระบาด

ฐานข้อมูลออนไลน์ GISAID ซึ่งรวบรวมข้อมูลพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาระบุว่า พบกรณีการติดเชื้อเดลตาครอนรายแรกที่ฝรั่งเศส เมื่อช่วงเดือนมกราคมของปีนี้ โดยถือเป็นผู้ติดเชื้อรายแรกที่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ ต่อมายังพบผู้ติดเชื้อนี้เพิ่มในเบลเยียม เยอรมนี เดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์ แต่ปัจจุบันพบได้มากที่สุดในสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และบราซิล

อย่างไรก็ตาม กรณีการติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับสายพันธุ์นี้ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยสถิติ ณ วันที่ 15 มีนาคม มีการส่งมอบตัวอย่างเชื้อให้ GISAID เพียง 47 ตัวอย่างจากทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมาจากฝรั่งเศส 36 ตัวอย่าง

แม้จะยังสรุปเป็นที่แน่นอนไม่ได้ก็ตาม แต่ข้อมูลที่ชี้ว่ากรณีการติดเชื้อเดลตาครอนระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ของปีนี้ ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดแบบเลขยกกำลัง อาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นที่ตีความได้ว่า เชื้อเดลตาครอน ไม่ได้มีอัตราการแพร่ระบาดสูงไปกว่าเชื้อเดลตา หรือโอไมครอนนัก

ข้อมูลจากงานวิจัย ที่ยังไม่ได้ลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ซึ่งจัดทำโดยเฮลิกซ์ (Helix) บริษัทเอกชนในสหรัฐที่รับถอดลำดับพันธุกรรม ยืนยันว่าข้อสันนิษฐานข้างต้นน่าจะถูกต้อง

ผลวิเคราะห์ตัวอย่างจากผู้ติดเชื้อโควิด 29,000 รายในสหรัฐ ที่ได้มาระหว่างช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 -กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของเชื้อเดลตา และโอไมครอนอย่างหนัก กลับพบเชื้อเดลตาครอนในจำนวนนี้เพียง 2 รายเท่านั้น

ทีมผู้วิจัยสรุปว่า ขณะนี้เชื้อเดลตาครอนยังคงเป็นสายพันธุ์ที่ถือว่าหาพบยาก ทั้งยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า เชื้อลูกผสมนี้จะสามารถติดต่อกันได้ง่ายยิ่งกว่าเชื้อโอไมครอนที่แพร่กระจายอยู่ในปัจจุบัน

เดลตาครอน

เชื้อกลายพันธุ์มาผสมกันได้อย่างไร

เฟลิเป นาเวกา นักไวรัสวิทยาประจำสถาบันวิจัยด้านสาธารณสุข FioCruz ของบราซิล บอกว่า การที่เชื้อกลายพันธุ์ยังมาผสมพันธุ์กันได้อีกนั้น ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายหรือหาพบได้ยากแต่อย่างใด

“เป็นไปได้ว่าเรื่องเช่นนี้เคยเกิดขึ้นกับเชื้อโควิดสายพันธุ์อื่นมาแล้วหลายครั้ง แต่เนื่องจากไวรัสโคโรนาแต่ละชนิดคล้ายกันมากมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เลยไม่อาจจะแยกแยะและตรวจจับได้ง่ายนัก”

“ไวรัสนั้นมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง และการอุบัติขึ้นของสายพันธุ์ใหม่ก็ใช่ว่าจะต้องเป็นเรื่องร้ายเสมอไป ตอนนี้เราแค่ต้องประเมินและทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่เชื้อลูกผสมจะมีต่อการระบาดใหญ่ของโควิดต่อไป”

ถึงกระนั้นก็ตาม สาเหตุที่ทำให้เชื้อกลายพันธุ์มาผสมกันได้นั้น อันดับแรกเกิดจากภาวะเชื้อกลายพันธุ์ทั้งชนิดเดลตา และโอไมครอนแพร่ระบาดอย่างหนักพร้อมกันในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีโอกาสติดเชื้อทั้งสองชนิดพร้อมกันได้ จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้คนในที่สาธารณะ เช่นผับบาร์ รถโดยสาร หรือสถานที่อื่น ๆ ที่มีผู้คนแออัด

เชื้อกลายพันธุ์ทั้งสองตัว สามารถเข้าสู่เซลล์ร่างกายของมนุษย์ได้ในเวลาเดียวกัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมภายในเซลล์ของมนุษย์ และให้กำเนิดลูกผสมที่มีพันธุกรรมของไวรัสทั้งสองแบบขึ้น โดยล่าสุดมีรายงานว่า เดลตาครอนมีส่วนหนามแบบเดียวกับโอไมครอน ในขณะที่ส่วนลำตัวนั้นเหมือนกับของเดลตา

ยังไม่ชัดเจนว่า เดลตาครอนจะทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตให้สูงกว่าเดิมหรือไม่ นอกจากนี้ ยังไม่มีข้อมูลว่ามันสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อโควิดครั้งก่อน ๆ หรือภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้หรือไม่ด้วย

เดลตาครอน

น่ากังวลแค่ไหน

หน่วยงานสาธารณสุขทั้งในระดับชาติ และองค์ระหว่างประเทศ ต่างก็ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก กับเชื้อโควิดลูกผสมที่เกิดขึ้นใหม่นี้ โดยทั้งองค์การอนามัยโลก และศูนย์ควบคุม และป้องกันโรคสหรัฐ (ซีดีซี) ต่างก็ยังไม่ได้ประกาศให้เดลตาครอนเป็นสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล (variants of concern) แต่อย่างใด

การแถลงข่าวขององค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา ยืนยันว่ายังไม่พบความเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ทั้งทางระบาดวิทยา หรือความรุนแรงของอาการป่วยโควิดที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเดลตาครอนเลย แต่คาดว่าจะได้พบกับไวรัสกลายพันธุ์ลูกผสมชนิดใหม่ ๆ อีก เพราะเชื้อโรคมีวิวัฒนาการตลอดเวลา

นาเวกา ยังเตือนว่า การเกิดขึ้นของเชื้อกลายพันธุ์ลูกผสม กระตุ้นเตือนให้เกิดการตระหนัก ถึงความจำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวัง และถอดรหัสพันธุกรรมจากตัวอย่างเชื้อให้มากกว่านี้ เพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าเดลตาครอนมีผลกระทบต่อการระบาดของโควิดหรือไม่”

“ในส่วนของประชาชนทั่วไป การป้องกันโดยฉีดวัคซีนให้ครบโดสตามกำหนดเวลา ล้างมือบ่อย ๆ และสวมหน้ากากเสมอ ยังคงเป็นมาตรการที่ได้ผลและสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อโควิดทุกสายพันธุ์”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo