COVID-19

‘อนามัยโลก’ กังวล ผู้ติดเชื้อโควิดพุ่งสูงเป็น ‘สึนามิ’

ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก เตือน ไวรัสกลายพันธุ์ “โอไมครอน-เดลตา” อาจทำให้เกิด “สึนามิ” ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่จะสร้างแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขอย่างมาก

วันนี้ (30 ธ.ค.) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นพ.ทีโดรส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO)ได้ออกมาเตือนว่า การระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ซึ่งมีสายพันธุ์โอไมครอน ที่แพร่กระจายได้ง่ายขึ้น รวมกับสายพันธุ์เดลตา ที่ระบาดอย่างรวดเร็วอยู่แล้ว อาจทำให้เกิดสถานการณ์ “สึนามิ” จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก

“สถานการณ์ดังกล่าว จะสร้างแรงกดดันมหาศาลให้กับบุคลากร และระบบสาธารณสุข ที่ต้องแบกรับภาระหนักจนแทบล่มสลายอยู่แล้วในปัจจุบัน”

shutterstock 1502520206 1

นพ.ทีโดรส บอกด้วยว่า แรงกดดันไม่ได้มาจากการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังมาจากบุคลากรทางการแพทย์ ที่ล้มป่วยด้วย

ท่าทีดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกเมื่อเร็ว  ๆ นี้ ที่ชี้ว่า มีผู้ติดเชื้อพุ่งสูงอย่างเห็นได้ชัดในพื้นที่ที่พบไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนระบาด โดยในยุโรปพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่เกินครึ่งของผู้ติดเชื้อทั่วโลก ตามมาด้วยทวีปอเมริกา และแอฟริกา

เขายังย้ำถึงอันตรายของความเข้าใจที่ว่า สายพันธุ์โอไมครอนนั้น ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการหนักน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ

“เราไม่ควรละเลยข้อมูลแง่ลบ หรือให้ความสนใจกับข้อมูลแง่บวกมากเกินไป เพราะเราไม่ต้องการให้ประชาชนเกิดความประมาท ด้วยการบอกว่าสายพันธุ์นี้ไม่รุนแรง”

แม้ก่อนหน้านี้จะมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่า ไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน อาจมีความรุนแรงน้อยกว่าไวรัสสายพันธุ์ก่อนหน้า และในหลายพื้นที่เริ่มพบสัดส่วนผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลไม่มาก เหมือนการระบาดรอบก่อนๆ

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกย้ำว่า จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปแบบนั้น พร้อมยืนยันว่า หากประเมินความเสี่ยงทั้งหมดตอนนี้ ไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนยังถือว่ามีความเสี่ยงสูง

ขณะที่ นายไมเคิล ไรอัน หัวหน้าฝ่ายฉุกเฉิน องค์การอนามัยโลกประเมินว่า การหยุดยั้งการระบาดของโควิด-19 ทั้งในแง่การทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อน้อยที่สุด รวมไปถึงการสกัดไม่ให้สายพันธุ์ต่าง ๆ ระบาดมากไปกว่านี้ คือ สิ่งสำคัญที่ต้องทำในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งองค์การอนามัยโลกยังไม่อยากมองภาพในแง่ดี จนกว่าจะเห็นว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพต่อต้านไวรัสโควิดได้ดี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ และในกลุ่มเปราะบาง

“เราไม่ควรละเลยข้อมูลแง่ลบหรือให้ความสนใจกับข้อมูลแง่บวกมากเกินไป เพราะเราไม่ต้องการให้ประชาชนเกิดความประมาทด้วยการบอกว่าสายพันธุ์นี้ไม่รุนแรง”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo