COVID-19

วิจัยชี้ ‘โควิด’ ทำ ‘ขยะ’ ล้นทะเล เจอแล้วเกือบ 2.6 หมื่นตัน มาจาก ‘เอเชีย’ มากสุด

ผลวิจัยล่าสุดชี้ ขยะพลาสติก ที่เกิดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ร่วม 25,900 ตัน หลุดรอดลงสู่มหาสมุทรโลก

สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐ (PNAS) เผยแพร่ผลงานวิจัยล่าสุด “การทิ้งขยะพลาสติกที่เกิดจากโควิด-19 และชะตากรรมของขยะเหล่านี้ในมหาสมุทรโลก” ที่ระบุว่า  ความต้องการอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 สร้างปัญหาให้กับโลก ในช่วงเวลาที่ผ่านมา และต่อเนื่องไปถึงอนาคต

รายงานระบุว่า การบริหารจัดการ PPE ที่ใช้แล้ว ซึ่งนับรวมถึง อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล อย่าง หน้ากากอนามัย และ ถุงมือ ทำให้เป็นเรื่องที่เกินความสามารถของหลาย ประเทศ ที่จะดำเนินการจัดการขยะพลาสติกเหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง

shutterstock 1826722349

นับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ จนถึงปัจจุบัน 193 ประเทศ และดินแดนทั่วโลก สร้างขยะพลาสติกแล้วกว่า 8.4 ล้านตัน โดยมีขยะพลาสติกจากโควิด-19 มากกว่า 25,900 ตัน หรือเทียบเท่ากับรถโดยสารแบบ 2 ชั้น มากกว่า 2,000 คัน ที่ถูกทิ้ง หรือเล็ดรอดลงไปสู่ทะเล และมหาสมุทร

เผิง อี้หมิง และ อู่ เป่ยเป่ย 2 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนานกิง ของจีน ผู้เขียนรายงานวิจัยฉบับนี้ ระบุว่า การระบาดใหญ่ของโควิด ทำให้ความต้องการขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพิ่มมากขึ้น สร้างแรงกดดันอย่างรุนแรง ต่อปัญหาขยะพลาสติกโลก ที่อยู่เหนือการควบคุมอยู่แล้ว

ทั้ง 2 คนบอกด้วยว่า ขยะพลาสติกจากโควิด-19 สามารถลอยออกไปได้ไกลในมหาสมุทร สัตว์ทะเลอาจไปเจอเข้า และอาจนำไปสู่การบาดเจ็บ หรือถึงตายได้

ทีมวิจัยยกตัวอย่างกรณีที่พบเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นปลา ที่ติดอยู่ในถุงมือการแพทย์ ซึ่งพบระหว่างการทำความสะอาดคลองในเมืองไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ หรือกรณีในบราซิล พบหน้ากากป้องกัน PFF-2 ในท้องของซากเพนกวินแมกเจลแลน

ผลการศึกษายังพบว่า 46% ของขยะพลาสติกที่ได้รับการจัดการอย่างไม่ถูกต้อง มาจากเอเชีย เนื่องจากมีผู้คนสวมหน้ากากอนามัยเป็นจำนวนมาก รองลงมาคือยุโรป 24%  อเมริกาเหนือ และใต้ 22%

นอกจากนี้ ยังพบว่า 87.4% ของขยะพลาสติกเหล่านี้ มาจากโรงพยาบาล มากกว่าจากการใช้ส่วนบุคคล โดยบุคคลทั่วไป มีอัตราส่วนการใช้ PPE เพียง 7.6% ของขยะทั้งหมด ในขณะที่บรรจุภัณฑ์ และชุดตรวจหาเชื้อ คิดเป็น 4.7% และ 0.3% ตามลำดับ

shutterstock 1853787829

พลาสติกส่วนใหญ่ มาจากขยะทางการแพทย์ ที่สร้างโดยโรงพยาบาล มีสัดส่วนมากกว่าขยะ ที่มาจากอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และวัสดุบรรจุภัณฑ์ จากการช้อปปิ้งออนไลน์ สิ่งนี้ก่อให้เกิดปัญหากับสภาพแวดล้อมของมหาสมุทร ส่วนใหญ่จะสะสมอยู่ที่ชายหาด

นอกจากนี้ ยังพบว่า หน้ากากอนามัย ถุงมือ และชุดตรวจหาเชื้อ ที่ไหลลงสู่มหาสมุทร ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดใหญ่ จนถึงเดือนสิงหาคมปีนี้ รวมจำนวนหลายหมื่นตัน มีแหล่งที่มาจากแม่น้ำสายสำคัญกว่า 369 สายทั่วโลก

หนึ่งในแม่น้ำที่ขนส่งขยะไปสู่ทะเล และมหาสมุทรมากที่สุดคือ แม่น้ำชัตต์อัลอาหรับ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอิรัก  ที่พัดพาอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ไปยังมหาสมุทรมากกว่า 5,200 ตัน รองลงมาเป็น แม่น้ำสินธุ ในทิเบตตะวันตก จำนวนไปกว่า 4,000 ตัน แม่น้ำแยงซี ในจีน 3,700 ตัน และแม่น้ำดานูบในยุโรป 1,700 ตัน

งานวิจัยระบุอีกว่า ประมาณ 73% ของขยะที่เกี่ยวกับโควิด-19 มาจากแม่น้ำในเอเชีย ตามด้วยแหล่งน้ำในยุโรป 11%  ซึ่งทีมวิจัยชี้ว่า การค้นพบนี้ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดการขยะพลาสติกในแม่น้ำ และแหล่งต้นน้ำเหล่านี้ ที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ

shutterstock 1736321876

นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าภายในปลายศตวรรษนี้ พลาสติกที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดเกือบทั้งหมดจะลงเอยที่ก้นทะเล หรือบนชายหาด

“เราพบผลกระทบระยะยาวจากการปล่อยของเสีย ที่เกี่ยวข้องกับการระบาดใหญ่ในมหาสมุทรโลก แบบจำลองชี้ให้เห็นว่า ในปลายศตวรรษนี้ พลาสติกที่เกี่ยวข้องกับการระบาดใหญ่เกือบทั้งหมด จะไปลงเอยอยู่ที่ก้นทะเล 28.8% หรือชายหาด 70.5%”

ผลการวิจัย ยังเน้นว่า การจัดการของเสียทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เป็นสิ่งจำเป็นในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo