COVID-19

วิจัยชี้ ‘โมลนูพิราเวียร์’ อาจทำ ‘โควิด-19’ กลายพันธุ์-แพร่กระจาย

นักวิทยาศาสตร์ เผยผลวิจัยล่าสุดพบ ยาต้านไวรัส “โมลนูพิราเวียร์” อาจมีส่วนเชื่อมโยงที่ทำให้เชื้อไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ และแพร่กระจาย 

เนเจอร์ วารสารวิทยาศาสตร์ เผยแพร่ผลการวิจัยล่าสุด ที่แสดงให้เห็นว่า ยาต้านเชื้อไวรัส “โมลนูพิราเวียร์” ของ “เมอร์ค” บริษัทเวชภัณฑ์ชั้นนำ ที่นำมาใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างแพร่หลายนั้น สามารถก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ของไวรัส และอาจทำให้ไวรัสแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้เป็นบางครั้ง

โมลนูพิราเวียร์

โมลนูพิราเวียร์ เป็นยาตัวแรก ๆ ที่ถูกนำมาใช้รักษาผู้ติดเชื้อ ระหว่างการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19  แต่นักวิจัยที่ทำแผนที่การกลายพันธุ์ของไวรัส ในฐานข้อมูลทั่วโลก พบว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสบางชนิด ที่เชื่อมโยงกับผู้ป่วยที่ใช้ยาโมลนูพิราเวียร์นั้น แตกต่างอย่างมากจากการกลายพันธุ์ตามปกติที่พวกเขาพบ ซึ่งหมายความว่า การใช้ยาตัวนี้ อาจนำไปสู่การติดเชื้อเพิ่มเติมได้

กรณีดังกล่าว ยังทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่ยาดังกล่าวจะเร่งการวิวัฒนาการของเชื้อไวรัสโควิด-19

นายคริสโตเฟอร์ รูอิส จากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ระบุว่า โมลนูพิราเวียร์ จัดอยุ่ในกลุ่มยา ที่เป็นสาเหตุให้ไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ จนอ่อนแอลงไปอย่างมาก และสามารถถูกกำจัดไปได้

“แต่สิ่งที่เราพบ คือ ในผู้ป่วยบางราย กระบวนการนี้ไม่ได้ฆ่าเชื้อไวรัสทั้งหมด และไวรัสกลายพันธุ์บางชนิด สามารถแพร่ระบาดไปได้”

การค้นพบนี้อาจนำไปสู่การเพิ่มการพิจารณาตรวจสอบอย่างละเอียดเกี่ยวกับผลลัพธ์ในการรักษาของยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) หรือชื่อทางการค้าว่า ยาลาเกวริโอ (Lagevrio) ซึ่งเป็นหนึ่งในยาต้านโควิดชนิดแรก ๆ ที่แพทย์ทั่วโลกใช้ในการรักษาผู้ติดเชื้อระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

นักวิจัยในสหรัฐและสหราชอาณาจักรได้วิเคราะห์จีโนมของไวรัสโควิดโดยเฉพาะ 15 ล้านจีโนม เพื่อตรวจสอบดูว่า เกิดการกลายพันธุ์อย่างไร และเกิดขึ้นเมื่อใด โดยพบว่า เชื้อไวรัสเกิดการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นในปี 2565 หลังจากที่มีการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในหลายประเทศ

โมลนูพิราเวียร์

อย่างไรก็ดี การศึกษาไม่พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ ทำให้เชื้อโควิดแพร่กระจายได้มากขึ้น หรือทำให้มีความรุนแรงมากขึ้น

ดร.ธีโอ แอนเดอร์สัน จากสถาบันฟรานซิส คริค ในลอนดอน ผู้นำการวิจัยดังกล่าว ชี้ว่า การค้นพบข้างต้น มีความสำคัญสำหรับหน่วยงานกำกับดูแล ที่ยังประเมินความเสี่ยง และประโยชน์ของยาโมลนูพิราเวียร์อยู่

ทางด้านโฆษกเมอร์ค แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการศึกษาดังกล่าว โดยระบุว่า นักวิจัยสันนิษฐานว่าการกลายพันธุ์ที่พวกเขาศึกษานั้น มีความเชื่อมโยงกับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ โดยไม่มีเอกสารที่เป็นหลักฐานพิสูจน์ในเรื่องการแพร่เชื้อ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo