World News

‘หยุด ม.112’ ข้าหลวงใหญ่สิทธิฯ ยูเอ็น ร้องไทยใช้กฎหมายตาม ‘กติการะหว่างประเทศ’

สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Human Rights : OHCHR) เรียกร้องรัฐบาลไทยยุติการใช้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และข้อกล่าวหาอาญาร้ายแรงอื่น ๆ ต่อผู้ประท้วงอย่างสันติ และเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 ให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศด้วย

ราวินา แชมดาซานิ โฆษก OHCHR เรียกร้องให้รัฐบาลไทย หยุดแจ้งข้อหาผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในไทย หลังมีผู้ประท้วงอย่างน้อย 35 คน รวมถึงเยาวชนอายุ 16 ปี ถูกตั้งข้อหาละเมิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยระบุว่า การคุมขังบุคคลที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเป็นการ “จับกุมหรือคุมขังโดยพลการ”

“เรารู้สึกเป็นกังวลอย่างยิ่งจากการที่ทางการไทยตั้งข้อหาผู้ประท้วงอย่างน้อย 35 คน รวมถึงผู้ประท้วงที่เป็นนักเรียนวัย 16 ปี ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประมวลกฎหมายอาญาของไทย”

92068913 99E3 49B2 9142
ภาพ : สหประชาชาติ

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุด้วยว่า “การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสมาชิกราชวงศ์ มีโทษจำคุกระหว่าง 3-15 ปี เราตกใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อตำรวจนำตัวผู้ประท้วงวัย 16 ปี ส่งศาลเยาวชน และร้องขอให้ศาลมีคำสั่งควบคุมตัว ศาลปฏิเสธคำสั่งควบคุมตัวและให้มีการประกันตัวอย่างมีเงื่อนไข”

โฆษก OHCHR  บอกด้วยว่า หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติหลายแห่ง รวมถึง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ซึ่งตรวจสอบการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights–ICCPR) ได้เรียกร้องหลายครั้ง ให้ไทยบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้ให้สอดคล้องกับข้อผูกพันระหว่างประเทศที่ไทยให้คำมั่นไว้

เธอบอกด้วยว่า เป็นเรื่องน่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่หลังจากไม่มีคดีนี้เกิดขึ้นนาน 2 ปี แต่กลับเห็นคดีนี้เกิดขึ้นหลายคดีในเวลาอันรวดเร็ว และน่าตกใจมาก ที่ปัจจุบันมีการตั้งข้อหากับผู้เยาว์ด้วย

นอกจากนี้ ยังได้แสดงความกังวลว่า กำลังจะมีการตั้งข้อหาอาญาร้ายแรงอื่น ๆ ต่อผู้ประท้วงที่เข้าร่วมการประท้วงอย่างสันติในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รวมถึงข้อหายุยงปลุกปั่นและข้อหาภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ด้วย

“เราเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการตั้งข้อหาอาญาร้ายแรงเช่นนั้นต่อบุคคลที่ใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีและการชุมนุมอย่างสงบ ประชาชนควรสามารถใช้สิทธิของพวกเขาได้โดยปราศจากความกลัวว่าจะถูกปฏิบัติการตอบโต้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติพบว่า การควบคุมตัวบุคคลเพียงเพราะใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีหรือสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ เป็นการควบคุมหรือจับกุมตัวตามอำเภอใจ” แถลงการณ์ระบุ

572895

OHCHR ยังได้เรียกร้องรัฐบาลไทยให้แก้กฎหมายมาตรา 112 ที่กำหนดบทลงโทษผู้หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยผู้ละเมิดอาจต้องโทษจำคุก 3- 15 ปี ให้เป็นไปตามข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

  • บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง
  • บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก
  • การใช้สิทธิตามที่บัญญัติในวรรค 2 ของข้อนี้ ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษควบคู่ไปด้วย การใช้สิทธิดังกล่าวอาจมีข้อจำกัดในบางเรื่อง
    แต่ทั้งนี้ข้อจำกัดนั้นต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายและจำเป็นต่อ การเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น และ  การรักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo