“ธุรกิจร้านอาหาร” คือหนึ่งในหัวใจสำคัญที่ทำให้ “นิวยอร์ก ซิตี้” เป็นมหานครอันดับโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ ธุรกิจนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจากนานาชาติ ผลักดันให้การค้า ศิลปะ และอุตสาหกรรมบันเทิงเฟื่องฟู รวมถึงเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญของเมือง
แม้การจ่ายค่าจ้างในอุตสาหกรรมนี้จะอยู่ในระดับต่ำ แต่ร้านอาหารก็เป็นแหล่งงานที่สม่ำเสมอสำหรับผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยที่เป็นชาวฮิสแปนิก ชาวเอชีย และผู้อพยพ รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นการเติบโตของบรรดาผู้ประกอบการ
แต่ในวันนี้ ธุรกิจร้านอาหารของมหานครนิวยอร์กกำลังถูกสึนามิชื่อ “โควิด-19” ถล่มอย่างหนัก โดยอีก 1 ปีข้างหน้า อาจจะเหลือร้านอาหารที่อยู่รอดเพียงครึ่งเดียว
ปี 2019 ธุรกิจเติบโตสุดขีด
รายงานจากทางการรัฐนิวยอร์กของสหรัฐระบุว่า ในทศวรรษที่ผ่านมา การจ้างงานในธุรกิจร้านอาหารของมหานครนิวยอร์กได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า โดยอุตสาหกรรมร้านอาหารของนครนิวยอร์กเติบโตเป็นประวัติการณ์ในปี 2019 ด้วยจำนวนร้านอาหาร 23,650 แห่ง ตำแหน่งงาน 317,800 อัตรา
การจ่ายค่าจ้างทั่วเมืองรวม 1.07 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.33 แสนล้านบาท และยอดจำหน่ายที่ต้องเสียภาษีรวมเกือบ 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 8.42 แสนล้านบาท คิดเป็น 15% ของยอดจำหน่ายที่ต้องเสียภาษีทั้งหมด
แต่ราว 30-50% ของอุตสาหกรรมร้านอาหารในนครนิวยอร์กซิตี้ “จะปิดตัวถาวรในปี 2021” จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดหนักในประเทศ
ร้านอาหาร 12,000 แห่งกำลังจะหายไป
รายงาน “อุตสาหกรรมร้านอาหารในนิวยอร์กซิตี : หนทางการฟื้นตัว (The Restaurant Industry in New York City: Tracking the Recovery)” ซึ่งเผยแพร่โดยสำนักงานตรวจสอบการเงินและการบัญชีรัฐนิวยอร์ก และรับรองโดยราฮุล เจน ผู้อำนวยการสำนักงานฯ และโทมัส พี ดีนาโพลี รองผู้อำนวยการสำนักงานฯ ระบุว่า อัตราส่วนข้างต้น หมายถึงร้านอาหารและบาร์ 12,000 แห่งจะหายไปจากเมือง นำไปสู่การสูญเสียงาน 159,000 อัตรา
“ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 อุตสาหกรรมร้านอาหารได้รับผลกระทบหนักหน่วงจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19” รายงานระบุ “คำสั่งให้กิจการต่างๆ ปิดทำการ ให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน และรักษาระยะห่างทางสังคม จุดเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจถดถอยขั้นรุนแรง และข้อจำกัดการเดินทาง ล้วนสร้างความเสียหายครั้งประวัติศาสตร์ต่ออุตสาหกรรมนี้”
“ผลลัพธ์คือ ร้านอาหารและบาร์จำนวนมากต้องปิดทำการ หรือลดการดำเนินงานลงอย่างมาก เนื่องจากกิจการเหล่านี้มักได้กำไรไม่มากนักแม้ช่วงรุ่งเรือง ทำให้เกิดความหวาดกลัวว่า อาจมีร้านอาหารและบาร์จำนวนมากต้องปิดตัวถาวร หากไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินในอนาคตอันใกล้”
มหานครนิวยอร์กกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ในสหรัฐ เมื่อเดือนมีนาคม 2020 ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงเป็นประวัติการณ์ การจ้างงานของ ร้านอาหาร ลดเหลือ 91,000 อัตราในเดือนเมษายน 2020 เนื่องจากมีการออกข้อจำกัดเข้มงวดที่ควบคุมการดำเนินธุรกิจ
ก่อนตัวเลขการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเป็น 174,000 อัตราในเดือนสิงหาคม 2020 หลังจากมีการผ่อนปรนกฎระเบียบและอนุญาตการรับประทานอาหารกลางแจ้ง แต่ตัวเลขดังกล่าวก็คิดเป็นเพียง 55% ของการจ้างงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ก่อนจะมีสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด
และจนถึงขณะนี้ ร้านอาหารหลายแห่งก็ยังต้องต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด และหลายแห่งยังปิดร้านต่อไป …
ปรับตัวครั้งใหญ่
ตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ ร้านอาหารจำนวนมากริเริ่มดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่เพื่อสร้างรายได้ โดยร้านอาหารบางแห่งเริ่มจำหน่ายอาหารแบบห่อกลับบ้านและบริการส่งอาหาร ส่วนบางแห่งผันตัวเป็นตลาดอาหารพิเศษ มุ่งจำหน่ายอาหารที่ไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าท้องถิ่นทั่วไป
ร้านอาหาร บางแห่งจำหน่ายชุดทำอาหารด้วยตนเอง เช่น พิซซา ทาโก หรือเมนูอื่นที่ขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยากนัก ขณะที่บางแห่งผันตัวเป็นธนาคารอาหารภายใต้การสนับสนุนทางการเงินจากภายนอกที่ครอบคลุมต้นทุน
รายงานระบุว่า “อีกหนึ่งกลยุทธ์เกี่ยวพันกับใบอนุญาตรับประทานอาหารกลางแจ้ง” โดยเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2020 นครนิวยอร์กเริ่มดำเนิน โครงการโอเพน สตรีทส์ (Open Streets) ซึ่งออกใบอนุญาตพิเศษสำหรับการรับประทานอาหารบนทางเท้าและท้องถนน
ช่วงปลายเดือนมิถุนายน มหานคร นิวยอร์ก ขยายโครงการโอเพน สตรีทส์ ซึ่งปิดถนนหลายสายให้ ธุรกิจร้านอาหาร วางโต๊ะและเก้าอี้บริการลูกค้า โดยเพิ่มสถานที่และยืดระยะเวลาให้บริการในแต่ละวันตลอดฤดูร้อน
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจร้านอาหารยังต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น เงินกู้หรือเงินสนับสนุน เพื่อให้อยู่รอด
“ขณะที่โครงการโอเพน สตรีทส์ มีกำหนดสิ้นสุดในฤดูใบไม้ร่วง นายกเทศมนตรีวางแผนจะขยายระยะเวลาของโครงการนี้ให้ยาวหนึ่งปี รวมถึงผลักดันเป็นโครงการถาวรด้วย” รายงานระบุ
ที่มาสำนักข่าวซินหัว
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- เฟดชี้ ‘การจ้างงาน’ ในสหรัฐยังไม่ฟื้น รอจนกว่าถึงปี 2023
- สื่อสหรัฐเปิดโปง ‘ทรัมป์’ แทบไม่เคยเสียภาษี อ้างธุรกิจขาดทุนหนัก
- พิษโควิด! ‘ร้านอาหารสหรัฐ’ ปิดตัว 3.2 หมื่นแห่ง โดย 60% ปิดกิจการถาวร