World News

สวม ‘หน้ากากอนามัย’ ในที่สาธารณะ เรื่องใหม่ในวัฒนธรรมยุโรป

การสวม “หน้ากากอนามัย” กลายเป็นปรากฎการณ์ใหม่บนท้องถนนในเมืองใหญ่หลายแห่งของยุโรป เช่น บรัสเซลส์ มิลาน ปราก และปารีส ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ชาวยุโรปส่วนใหญ่ไม่เคยนึกฝันมาก่อน

รัฐบาลยุโรปปรับเปลี่ยนนโยบายภายในเวลาไม่ถึง 2 เดือน ขณะนี้รัฐบาลหลายแห่งจากสาธารณรัฐเช็ก สโลวะเกีย และออสเตรีย ไปจนถึงเยอรมนี เบลเยียม และฝรั่งเศส เรียกร้องหรือแนะนำให้พลเมืองของตนใส่หน้ากากปิดปากและจมูกเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะ

สถานการณ์กำลังเปลี่ยนไป หลายประเทศในยุโรปกำลังผ่อนคลายข้อจำกัดที่ให้อยู่แต่ในบ้าน หน้ากากอนามัยยิ่งมีบทบาทมากขึ้นกว่าเดิมในช่วงเวลาหลังการล็อกดาวน์ ในการช่วยลดการส่งต่อเชื้อโรคโควิด-19 จากพาหะที่ไม่แสดงอาการ

โรคโควิด-19 ซึ่งทำให้มีผู้ป่วยมากกว่า 1.2 ล้านรายและเสียชีวิตเกือบ 120,000 รายในยุโรป เมื่อนับถึงวันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน 2563 ยังคงอยู่กับมนุษย์ต่อไปอีกเป็นเวลานาน เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนและยารักษาที่มีประสิทธิภาพ

วัฒนธรรมหน้ากากอนามัย

ในประเทศเอเชียตะวันออก เช่น จีน เกาหลีใต้ ไทย และเวียดนาม การใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เพื่อช่วยจำกัดการแพร่กระจายของไวรัส

แต่ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรป ผู้ที่สวมหน้ากากอนามัยมักถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ ในช่วงแรกที่ไวรัสระบาด บางกรณีในยุโรป เกิดเหตุชาวเอเชียที่สวมหน้ากากอนามัยถูกทำร้ายและเหยียดเชื้อชาติ

ในเวลานั้น นโยบายของรัฐบาลยุโรปก็ชัดเจนเช่นกัน มีเพียงผู้ติดเชื้อ ผู้ดูแล หรือเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพเท่านั้นที่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย ขณะที่หน้ากากสำหรับประชาชนทั่วไปไม่มีความหมาย

สถานการณ์ดังกล่าวเปลี่ยนไปแบบปุบปับเมื่อโรคโควิด-19 เกิดการระบาดในยุโรป พร้อมกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ก่อตัวเพิ่มขึ้นในภูมิภาค

“สาธารณรัฐเช็ก” เริ่มก่อน

สาธารณรัฐเช็กเป็นประเทศแรกในยุโรปที่บังคับให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ พร้อมทั้งระบุว่าเป็นมาตรการที่ช่วยลดการติดเชื้อ วันที่ 18 มีนาคม 2563 การสวมหน้ากากอนามัยกลายเป็นข้อบังคับในประเทศ และอันแดรย์ บาบิช (Andrej Babis) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็ก ได้แนะนำวิธีปฏิบัตินี้แก่ผู้นำยุโรปและสหรัฐอเมริกา

วันที่ 19 มีนาคม 2563 บาบิชทวิตข้อความเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสว่า “การสวมหน้ากากผ้าธรรมดาช่วยลดการแพร่กระจายของไวรัสได้ถึง 80%! สาธารณรัฐเช็กเห็นเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องให้พลเมืองสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ” นายกรัฐมนตรีเช็กกล่าว

บาบิสยังบอกด้วยว่าเขาส่งวิดีโอหลายชุดให้แก่ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรียุโรปส่วนใหญ่เพื่อกระตุ้นให้ทำเช่นเดียวกัน

นับจนถึงวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (26 เม.ย.) ประเทศในยุโรปกลางนี้ ซึ่งมีประชากร 10.6 ล้านคน มีรายงานผู้ติดเชื้อ 7,387 รายและผู้เสียชีวิต 220 ราย โดยที่อิตาลีมีผู้ติดเชื้อ 197,675 รายและผู้เสียชีวิต 26,644 ราย ขณะที่ในสเปนมีผู้ติดเชื้อ 226,629 รายและเสียชีวิต 23,190 ราย

หลังจากนั้น สาธารณรัฐสโลวักที่อยู่ใกล้เคียงก็มีข้อบังคับให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยเช่นกัน ในวันที่ 30 มีนาคม 2563 ออสเตรียกำหนดให้ผู้ซื้อสวมหน้ากากอนามัยในซูเปอร์มาร์เก็ต และนายกรัฐมนตรีเซบาสเตียน คูร์ซ (Sebastian Kurz) กล่าวว่า “ผมรู้ดีว่าหน้ากากอนามัยเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับวัฒนธรรมของเรา… มันจะเป็นช่วงเรียนรู้”

“เบลเยียม” เตรียมแจกหน้ากากอนามัย

วันศุกร์ (24 เม.ย.) เบลเยียมเป็นประเทศล่าสุดในยุโรปที่ประกาศข้อบังคับสวมหน้ากาก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางออก 3 ระยะ ที่จะปลดการล็อกดาวน์ทั่วประเทศทีละขั้น

โซฟี วิลเมส (Sophie Wilmes) นายกรัฐมนตรีเบลเยียม กล่าวว่า การยกเลิกข้อจำกัดกักตัวครั้งแรก ระยะ 1A จะเริ่มต้นวันที่ 4 พฤษภาคม และหนึ่งในมาตรการแรกนั้นคือกำหนดให้ชาวเบลเยียมทุกคนที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปสวมหน้ากากอนามัยบนระบบขนส่งสาธารณะ

รัฐบาลเบลเยียมจะแจกหน้ากากอนามัยให้พลเมืองทุกคนอย่างน้อย 1 ชิ้น หน้ากากอนามัยจะกลายเป็นข้อบังคับสำหรับครูและนักเรียนที่อายุ 12 ปีขึ้นไปหลังจากเปิดโรงเรียน ในระยะที่ 2 ซึ่งกำหนดเริ่มวันที่ 18 พฤษภาคม

นับจนถึงวันอาทิตย์ เบลเยียมที่มีประชากร 11.5 ล้านคน มีรายงานผู้ติดเชื้อ 46,134 รายและผู้เสียชีวิต 7,094 ราย โดยมีอัตราการเสียชีวิตถึง 15.4% ซึ่งสูงที่สุดในยุโรป

ก่อนหน้าเบลเยียม วันที่ 22 เมษายน ประเทศเยอรมนีกำหนดให้สวมหน้ากากอนามัยบนระบบขนส่งสาธารณะ รัฐเบรเมินกลายเป็นรัฐสุดท้ายที่เรียกร้องให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย

การกลับสู่ภาวะปกติที่มีความรับผิดชอบยังคงเชื่อมโยงใกล้ชิดกับการปกป้องสุขภาพอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เราจำเป็นต้องมีกฎระเบียบที่คล้ายคลึงกันมากที่สุดในทุกรัฐของเยอรมนี” อาร์มิน ลาสเช็ท (Armin Laschet) มุขมนตรีแห่งแคว้นนอร์ธไรน์-เวสต์ฟาเลีย กล่าว

paris

“เมืองน้ำหอม” ยังไม่บังคับ

ด้านรัฐบาลฝรั่งเศสยังไม่ได้ออกมาตรการบังคับให้สวมหน้ากาก แต่กลุ่มสถาบันที่มีอำนาจต่างๆ เช่น สถาบันการแพทย์แห่งชาติ เสนอแนะให้ประชาชนสวมหน้ากาก

เราขอแนะนำให้สวมหน้ากากป้องกันที่ครอบจมูกและปาก เพื่อจำกัดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อไวรัสโดยตรงจากละอองฝอย” สถาบันการแพทย์แห่งชาติฝรั่งเศสกล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 22 เม.ย.

ฝรั่งเศสซึ่งรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อยืนยันผล 124,575 รายและผู้เสียชีวิต 22,856 รายเมื่อนับถึงวันอาทิตย์ ตั้งเป้าว่าจะปลดล็อกดาวน์ทั่วประเทศในวันที่ 11 พฤษภาคม และคาดว่าหน้ากากอนามัยจะมีบทบาทสำคัญในการนี้

เอดัวร์ ฟีลิป (Edouard Philippe) นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส กล่าวว่า “เป็นไปได้มาก” ที่การสวมหน้ากากอนามัยจะเป็นข้อบังคับในการใช้ขนส่งสาธารณะ เขาจะเปิดเผยแผนการปลดล็อกดาวน์ของรัฐบาลต่อรัฐสภาในวันที่ 28 เมษายน

ที่มาสำนักข่าวซินหัว

Avatar photo