World News

นักวิเคราะห์ชี้ราคาน้ำมันแพงต่ออีก 5 ปี

บรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดน้ำมัน และนักวิเคราะห์ ต่างให้ความสนใจกับราคาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า ที่กำลังปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 เป็นต้นมา โดยที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ทะเลเหนือ พุ่งขึ้นไปอยู่เหนือระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

oil 1

นักวิเคราะห์ ระบุว่า การที่ราคาน้ำมันกำลังเดินสู่ขาขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น บ่งชี้ว่า บรรดานักเก็งกำไรกำลังวางเดิมพันถึงราคาที่ปรับตัวขึ้นในระยะกลาง ถึงปี 2565 และ 2566 ทั้งอาจมีความเป็นไปได้ที่ในระยะเวลานานกว่านั้น ราคาก็จะยังไม่ปรับตัวลงมา

ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ล่วงหน้า 1 เดือน พุ่งขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสทะยานขึ้นไปเคลื่อนไหวอยู่เหนือระดับ 72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันเบรนท์ซื้อขายล่วงหน้า 5 ปี ก็ปรับขึ้นไปอยู่เหนือระดับ 63 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังตลอดระยะเวลา 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา ราคาขยับอยู่ในช่วงแคบๆ ที่ประมาณ 55-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเท่านั้น

นับตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบเบรนท์กำหนดส่งมอบเดือนธันวาคม 2565 พุ่งขึ้นมาถึง 10% อยู่สูงกว่า 64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบกำหนดส่งมอบเดือนธันวาคม 2556 ปรับขึ้นไปอยู่เหนือระดับ 63 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว

นักวิเคราะห์ระบุว่า การที่ผู้ผลิตน้ำมัน ยังไม่ได้เร่งวางแผนการผลิต สำหรับราคาซื้อขายล่วงหน้า 5 ปี และการชั่งน้ำหนักถึงขาลงของราคา ทำให้ราคาซื้อขายล่วงหน้ายังมีช่องว่างที่จะขึ้นไปอีก

ช่วงเดือนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเบรนท์ล่วงหน้า 5 ปี พุ่งขึ้นมาถึง 11% ขณะที่ราคาซื้อขายล่วงหน้า 1 เดือน ปรับขึ้นมา 6.8%

oil prices

ในตลาดล่วงหน้า 5 ปีนั้น บรรดานักเก็งกำไร และนักวิเคราะห์ ต่างพากันคาดการณ์ถึงการจัดหา และความต้องการในอนาคต ที่น่าจะมีความเสี่ยงจากความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์ทางการเมืองน้อยกว่าในปัจจุบัน ที่เป็นปัจจัยหลักหนุนให้ราคาน้ำมันพุ่งทะลุ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

นักวิเคราะห์ และเทรดเดอร์ กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การเก็งกำไรในการซื้อขายน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า 5 ปี เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการคาดการณ์เกี่ยวกับการจัดหา และความต้องการเป็นหลัก

ในฝั่งของความต้องการนั้น ความต้องการน้ำมันยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง หลังจากที่มีความต้องการแข็งแกร่งเกินคาดเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งแม้เหล่านักวิเคราะห์จะพากันตั้งข้อสงสัยว่า ราคาน้ำมันในระดับ 80 ดอลลลาร์ต่อบาร์เรลจะเริ่มชะลอตัวลงแล้วหรือไม่ แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่า ความต้องการจะยังคงแข็งแกร่งต่อไป

ส่วนเรื่องของการจัดการนั้น ทั้งกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) และประเทศผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปค ยังคงลดการผลิตอยู่

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์เตือนว่า ไม่ว่าการลดผลิตวันละ 1.8 ล้านบาร์เรล จะคงอยู่ไปนานเท่าใด แต่ในไม่ช้า อุตสาหกรรมน้ำมันจะเริ่มรับรู้ถึงผลกระทบที่เกิดจากการลดการลงทุนในโครงการต่างๆ ที่เป็นผลมาจากภาวะราคาน้ำมันซบเซาครั้งร้ายแรงสุด

crudeoil

รายงานสถานการณ์น้ำมัน 2561 ของสำนักงานพลังงานสากล (ไออีเอ) ชี้ว่า การฟื้นตัวจากปริมาณการลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมันที่ร่วงลง 25% ทั้งในปี 2558 และ 2559 แทบจะยังไม่เกิดขึ้น ทั้งการลงทุนในปี 2560 ก็เบาบางมาก ซึ่งข้อมูลเบื้องต้น บ่งชี้ว่า ปี 2561 จะขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งอาจจะกลายเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาขึ้นในอนาคต

ที่มา: oilprice.com

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight