World News

สื่อนอกตีข่าว ‘รัฐบาล-คลัง’ เห็นต่าง ‘นโยบายดอกเบี้ย’ กดดัน ‘เงินบาท’ ต่างชาติเทขาย ‘หุ้น-บอนด์’

สื่อนอกตีข่าว “รัฐบาล” และ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” มีความเห็นต่างเรื่อง “นโยบายดอกเบี้ย” ชี้สร้างแรงกดดัน “เงินบาท” นักลงทุนต่างชาติเทขาย “หุ้น-พันธบัตร” ไทย 

เว็บไซต์ The Edge Malaysia รายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยรัฐมนตรีอีกจำนวนหนึ่ง ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการประสานงานด้านการคลัง และนโยบายการเงิน เพื่อดึงเศรษฐกิจไทย ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้หลุดพ้นจากภาวะเงินเฟ้อติดลบ และการเติบโตที่อ่อนแอ 

นโยบายดอกเบี้ย

รายงานระบุว่า นายเศรษฐา โพสต์ข้อความบนเอ็กซ์ว่า การที่เงินเฟ้อติดลบมา 4 เดือนติดต่อกัน ย่อมเป็นสัญญาณความอ่อนแอทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง และเป็นการเตือนให้รู้ว่านโยบายการคลัง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และนโยบายการเงิน ที่เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องสอดประสานและเดินไปด้วยกัน ถ้าต่างคนต่างทำคงจะแก้ปัญหาได้ยาก

นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีบางคน ยังอ้างถึงเงินเฟ้อติดลบอย่างต่อเนื่อง เพื่อโต้แย้งว่า ถึงเวลาแล้วที่ ธปท. จะเริ่มลดต้นทุนการกู้ยืม ซึ่ง ธปท. ยืนกรานปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในระดับสูงสุดในรอบทศวรรษ จะเป็นเกราะป้องกันสำคัญต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่อาจเกิดขึ้นทั่วโลก

ทั้งนี้ ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ 24 คน ของบลูมเบิร์ก บ่งชี้ว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพรุ่งนี้ (7 ก.พ.) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.5% โดยในช่วงกว่า 1 ปี ที่ผ่านมา ธปท. ได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ยรวมแล้ว 2% ในการเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายการเงิน ก่อนที่จะผ่อนคลายลงเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

รายงานข่าวระบุว่า ความตึงเครียดระหว่างรัฐบาล กับ ธปท. ยังสร้างแรงกดดันต่อ “เงินบาท” ที่กลายเป็นสกุลเงินที่มีผลประกอบการเลวร้ายสุด เป็นอันดับ 2 ของเอเชียในปีนี้ รองจากเงินเยน เห็นได้จากการที่บรรดานักลงทุนต่างชาติ พากันถอนเงินลงทุนออกจากตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตรของไทย

นายเศรษฐา บอกด้วยว่า อัตราดอกเบี้ยในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อวิสาหกิจขนาดกลาง และเล็ก (เอสเอ็มอี) ไทย รวมถึง กลุ่มผู้มีรายได้น้อย มากเป็นพิเศษ

นโยบายดอกเบี้ย
นายเศรษฐา ทวีสิน

ข้อมูลจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า เมื่อปี 2566 เศรษฐกิจไทย ขยายตัวราว 1.8% น้อยกว่าการคาดการณ์ของเกือบทุกสำนัก ขณะที่หนี้ครัวเรือนยังอยู่เหนือระดับ 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และหนี้สาธารณะขยายตัวขึ้นร่วม 50% จากระดับเมื่อปี 2562 มาอยู่ที่ราว 62%

ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เงินเฟ้อติดลบ เป็นเรื่องที่สร้างความกังวล และอาจจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อแก้ไขในเรื่องนี้ และว่า กนง. ควรที่จะให้ความสำคัญถึงเรื่องความมั่นคงทางการเงิน

ส่วนนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะวิกฤติ พร้อมเรียกร้องให้บรรดาผู้ที่วิจารณ์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมถึง นโยบายดิจิทัล วอลเล็ต คิดใหม่เกี่ยวกับจุดยืนของพวกเขา ขณะที่บรรดานักการเงิน ต่างพากันกังวลมากขึ้น เกี่ยวกับหุ้นกู้จำนวนหนึ่งที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเร็ว ๆ นี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo