“กระทรวงพาณิชย์” เผยเงินเฟ้อเดือนมกราคมติดลบ 1.11% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ต่ำสุดในรอบ 35 เดือน ตามการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน คาดทั้งปีเฉลี่ย -0.3-1.7%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนมกราคม 2567 เท่ากับ 106.98 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2566 ซึ่งเท่ากับ 108.18 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคมลดลง 1.11% (YoY) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 35 เดือน ตามการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน จากมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของภาครัฐ
ประกอบกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดยังคงลดลงต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะผักสดและเนื้อสัตว์ เนื่องจากปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น รวมทั้งฐานราคาเดือนมกราคม 2566 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อค่อนข้างสูง มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง สำหรับสินค้าและบริการอื่น ๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ
อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนธันวาคม 2566 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยลดลง 0.83% ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 3 จาก 139 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย) สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2566 พบว่า ประเทศไทยสูงขึ้นเพียง 1.23% อยู่ระดับต่ำอันดับที่ 9 จาก 139 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของหลายประเทศที่มีทิศทางชะลอตัวจากปี 2565 ค่อนข้างชัดเจน
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก
- มาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน ได้แก่ การตรึงราคาค่ากระแสไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งมีประชาชนได้รับประโยชน์ 17.77 ล้านราย และมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร จนถึงวันที่ 19 เมษายน 2567
- ผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญลดลง และบางพื้นที่มีอุณหภูมิลดลง ทำให้ปริมาณผักสดเข้าสู่ตลาดมากกว่าปีก่อนหน้า ส่งผลให้ราคามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ได้แก่
- สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังยืดเยื้อ ทำให้ค่าระวางเรือและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญปรับตัวสูงขึ้น
- เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้น
- ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากความต้องการเพิ่มขึ้น และการปรับราคาเพื่อให้มีความสมดุลและเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน
- การขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว หลังจากภาครัฐมีนโยบายอำนวยความสะดวกในการเดินทางมาประเทศไทย ของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจประเทศต่าง ๆ ส่งผลให้อุปสงค์และราคาสินค้าในหมวดที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น
ทัังนี้ สนค. ประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน ได้แก่ การตรึงราคาค่ากระแสไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งมีประชาชนได้รับประโยชน์ 17.77 ล้านราย และมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร จนถึงวันที่ 19 เมษายน 2567 และผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญลดลง และบางพื้นที่มีอุณหภูมิลดลง ทำให้ปริมาณผักสดเข้าสู่ตลาดมากกว่าปีก่อนหน้า ส่งผลให้ราคามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ระหว่างติดลบ 0.3-1.7% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘พาณิชย์’ คาดแนวโน้มเงินเฟ้อปี 67 ยังชะลอตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2
- ‘พาณิชย์’ เปิดเงินเฟ้อ ธ.ค. 66 ติดลบ 0.83% ลด 3 เดือนติด ย้ำไร้สัญญาณ ‘เงินฝืด’
- เงินเฟ้อเดือน พ.ย. ร่วงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน!
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- Twitter: https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg