World News

‘สงครามยูเครน’ ดัน ‘ยอดขายอาวุธ’ สหรัฐ ปี 66 พุ่งทุบสถิติ

สหรัฐเปิดยอดขายอาวุธให้ต่างประเทศปี 2566 ทะลุ 238,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 8.44 ล้านล้านบาท ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เหตุ “สงครามยูเครน” กระตุ้นความต้องการของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ รายงานว่า ในปีที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐได้เจรจาขายอาวุธให้กับต่างประเทศโดยตรง เป็นมูลค่ากว่า 81,000 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 56% จากยอดขายปี 2565 ขณะที่ยอดขายส่วนที่เหลือมาจากบริษัทผู้ผลิตยุทโธปกรณ์เอกชนสหรัฐ ที่ขายให้ประเทศต่าง ๆ

ยอดขายอาวุธ

บีบีซี รายงานว่า หนึ่งในชาติที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่จัดซื้อยุทโธปกรณ์จากสหรัฐ คือ โปแลนด์ ประเทศเพื่อนบ้านของยูเครน เนื่องจากอยู่ระหว่างการขยายขนาดกองทัพ โดยนับถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2566 โปแลนด์ซื้อเฮลิคอปเตอร์อาปาเช่หลายลำ มูลค่าราว 12,000 ล้านดอลลาร์ ระบบเครื่องยิงจรวดหลายลำกล้อง (High Mobility Artillery Rocket System – HIMARS) มูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์

รถถัง M1A1 เอบรามส์หลายคัน มูลค่ารวม 3,750 ล้านดอลลาร์ และระบบบัญชาการรบทางอากาศ และขีปนาวุธแบบผสมผสานของกองทัพสหรัฐ (Integrated Air and Missile Defence Battle Command System) มูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์

การซื้ออาวุธดังกล่าวมีขึ้น จากการที่นายกรัฐมนตรีโดนัลด์ ทัสก์ ของโปแลนด์ได้สัญญาว่า จะสานต่อโครงการพัฒนากองทัพให้ทันสมัยขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลก่อนที่มีแนวความคิดอนุรักษนิยม เพื่อทำให้โปแลนด์มี  “กองทัพบกที่ทรงอำนาจมากที่สุดในยุโรป”

ขณะที่ เยอรมนีได้จัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ชีนุกหลายลำเป็นมูลค่า 8,500 ล้านดอลลาร์ ส่วนบัลแกเรียจ่ายเงินราว 1,500 ล้านดอลลาร์ เพื่อซื้อรถยานเกราะทหารราบสไตรเกอร์ นอร์เวย์ซื้อเฮลิคอปเตอร์หลากภารกิจมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ สาธารณรัฐเช็กจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35 และยุทโธปกรณ์อื่น ๆ เป็นมูลค่า 5,600 ล้านดอลลาร์

“การค้าอาวุธและการส่งต่อยุทโธปกรณ์ เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐ ที่จะส่งผลกระทบระยะยาวต่อความมั่นคงระดับภูมิภาคและระดับโลก” ข้อความในบันทึกประจำปีของกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ ระบุ

ยอดขายอาวุธ

หัวหน้าของสำนักงานด้านการเคลื่อนย้ายอาวุธของสหรัฐ เปิดเผยว่า ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่เป็นตัวกระตุ้นยอดขายอาวุธของสหรัฐ คือกลุ่มประเทศที่เริ่มถอยห่างจากรัสเซีย ทั้งนี้ รัสเซียถือเป็นผู้ขายอาวุธรายใหญ่อันดับสองของโลกรองจากสหรัฐ มาเป็นระยะเวลาหลายทศวรรษ

นอกจากภูมิภาคยุโรปแล้ว รายงานฉบับดังกล่าว ยังระบุว่า เกาหลีใต้ได้จัดซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35 จำนวนหนึ่งด้วยงบประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์ และออสเตรเลียใช้เงินกว่า 6,300 ล้านดอลลาร์ ซื้อเครื่องบินลำเลียง C130J-30 ซูเปอร์เฮอร์คิวลิส ขณะที่ญี่ปุ่นบรรลุข้อตกลงมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ จัดซื้อเครื่องบินสอดแนม E-2D ฮ็อกอาย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo