World News

ย้อนรอย ‘ข่าวเด่นรอบโลก’ ปี 2566

ในปี 2566 นี้ เกิดเหตุการณ์มากมายขึ้นทั่วโลก ทั้งเรื่องดี เรื่องร้าย ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ และฝีมือของมนุษย์ ทั้งเหตุการณ์ที่น่ายินดี และน่าตกใจ The Bangkok Insight ขอพาย้อนรอย “ข่าวเด่นรอบโลก” ตลอดทั้งปี ที่ผ่านมา

2566 ปีแห่งความขัดแย้ง

ในปีนี้ เกือบทุกมุมโลก ยังเกิดความขัดแย้งอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นความขัดแย้งที่มีมานาน และกลับมาปะทุอย่างรุนแรงอีกครั้ง ล่าสุดกับ สงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก หลังเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 กลุ่มฮามาส สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก ด้วยการเปิดฉากโจมตีครั้งใหญ่ต่ออิสราเอล แบบไม่มีการส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า ทั้งยิงจรวดโจมตี จากฉนวนกาซา และส่งกองกำลังบุกข้ามพรมแดนเข้าสู่อิสราเอล ทำร้ายผู้คน และจับคนไปเป็นตัวประกันจำนวนมาก

ข่าวเด่นรอบโลก

เหตุการณ์นี้ ถือเป็นความขัดแย้งที่มีการเผชิญหน้ากันตรงๆ ภายในดินแดนของอิสราเอลครั้งแรก นับตั้งแต่สงครามอาหรับ-อิสราเอล เมื่อปี 2491 การโจมตีของฮามาส และการตอบโต้กลับของอิสราเอล สร้างความสูญเสียอย่างมาก ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 20,000 คน

นอกจากนี้ ยังมี ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยูเครน ที่การสู้รบยืดเยื้อมาเป็นปีที่ 2 ซึ่งสร้างความสูญเสียอย่างมาก โดยยูเครนสามารถยืนหยัดต้านทานการรุกรานของรัสเซียมาได้ ด้วยการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ จากโลกตะวันตก ขณะที่รัสเซีย แม้จะมีความเหนือกว่าในเกือบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นกองทัพที่มีขนาดใหญ่กว่า รวมถึงมีประชากรโดยรวมมากกว่า แต่การสูญเสียที่เกิดขึ้นในช่วงเกือบ 2 ปีของสงครามครั้งนี้ก็ถือว่ามหาศาล ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหาร รวมถึงตัวทหารรัสเซียเอง เรียกสไตล์การสู้รบของกองทัพรัสเซียว่าไม่ต่างจาก “เครื่องบดเนื้อ”

ในปีนี้ ยังเกิด การสู้รบในเมียนมา ที่กลุ่มติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ลุกขึ้นมาจับมือเป็นพันธมิตรกัน เปิดฉากโจมตีกองทัพเมียนมา ทำให้เกิดการสู้รบขึ้นในหลายพื้นที่ โดยพื้นที่สู้รบหลักๆ รวมถึง ทางเหนือของรัฐฉาน รัฐกะยาทางตะวันออก และรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศ ซึ่งนอกเหนือจากการยึดเมือง และฐานที่มั่นของกองทัพเมียนมาแล้ว กองทัพกลุ่มชาติพันธุ์ ยังเข้ายึดเส้นทางการค้าตามแนวชายแดนหลายแห่งด้วย

ข่าวเด่นรอบโลก

แผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย ทำคนเสียชีวิตมากสุดในโลก

ปี 2566 เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ที่สร้างความเสียหายอย่างหนัก ทั้งต่อชีวิตผู้คน และทรัพย์สินหลายครั้ง รวมถึง แผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ที่เกิดขึ้น 2 ครั้งซ้อนในวันเดียวกัน โดยวัดแรงสั่นสะเทือนได้ขนาด 7.8 และ 7.7 สร้างความเสียหายอย่างหนัก ในพื้นที่ทางตอนใต้ และตอนกลางของตุรกี รวมถึงทางตอนเหนือ และตะวันตกของซีเรีย ทั้งยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกมากกว่า 30,000 ครั้งในช่วง 3 เดือนต่อมา

ความเสียหายจากแผ่นดินไหวกินพื้นที่รวมกว่า 350,000 ตารางกิโลเมตร หรือใกล้เคียงกับขนาดของประเทศเยอรมนีทั้งประเทศ ภัยพิบัติครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 59,000 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 120,000 คน โดยส่วนใหญ่อยู่ในตุรกี

ถือเป็นภัยธรรมชาติ ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของตุรกี และเป็นเหตุแผ่นดินไหวที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลก นับตั้งแต่เหตุแผ่นดินไหวที่เฮติเมื่อปี 2553 ขณะที่มูลค่าความเสียหายอยู่ที่ราว 148,000 ล้านดอลลาร์ ในตุรกี หรือคิดเป็นสัดส่วน 9% ของจีดีพีของประเทศ ส่วนในซีเรียเสียหายราว 14,800 ล้านดอลลาร์

ข่าวเด่นรอบโลก

“ไฟป่าฮาวาย” ไฟป่ารุนแรงสุดรอบ 100 ปี ของสหรัฐ

ในต้นเดือนสิงหาคม 2566 ได้เกิดระลอกไฟป่าขึ้นในรัฐฮาวาย สหรัฐ โดยเกาะเมาวีได้รับผลกระทบเป็นหลัก และมีเกาะฮาไวอิ หรือเกาะใหญ่ ที่ได้รับผลกระทบรองลงมาโดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 99 ราย และยังมีตัวเลขผู้สูญหายกว่า 1,300 คนถือเป็นไฟป่าครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบกว่า 100 ปีของสหรัฐ

สาเหตุที่ทำให้ไฟป่าครั้งนี้โหมกระหน่ำ และลุกลามอย่างรุนแรงคือ สภาพความแห้งแล้งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในฮาวาย โดยพืชพันธุ์ที่แห้งแล้งเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีของไฟป่า ทั้งยังเจอลมกระโชกแรงพัดเปลวเพลิงไปติดบ้านเรือนประชาชน

นอกจากนี้ สภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะยังทำให้การระดมนักดับเพลิงที่เชี่ยวชาญ และการจัดหาอุปกรณ์ดับเพลิงเป็นไปอย่างยากลำบาก ส่งผลให้การควบคุมเพลิงไม่สามารถทำได้อย่างทันท่วงที

ในวันที่ 8 สิงหาคม 2566 มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และในวันถัดมา รัฐฮาวายได้ขยายอาณาเขตของสถานการณ์ฉุกเฉินครอบคลุมทั้งรัฐ ก่อนที่ในวันที่ 10  สิงหาคม ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ จะออกประกาศสถานการณ์ภัยพิบัติใหญ่ระดับประเทศ

ข่าวเด่นรอบโลก

โศกนาฏกรรม “เรือดำน้ำไททัน” ระเบิด

วันที่ 18 มิถุนายน 2566 เกิดเหตุร้ายกับเรือดำน้ำไททัน ของบริษัทสัญชาติอเมริกา โอเชียนเกต ระหว่างลงไปสำรวจซากเรือไททานิกในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ นอกชายฝั่งประเทศแคนาดา การสื่อสารระหว่างไททัน และเรือแม่โพลาร์ พรินซ์ ขาดหายไป 1 ชั่วโมง 45 นาทีหลังจากดำดิ่งลงไปใต้มหาสมุทร และไททันไม่ได้กลับขึ้นมาบนผิวน้ำตามเวลาที่กำหนด

หลังจากหายไปเป็นเวลา 4 วัน ในที่สุดยานยนต์ใต้น้ำควบคุมระยะไกล ได้ค้นพบซากเรือไททัน ซึ่งอยู่ห่างจากหัวเรือไททานิกเพียง 500 เมตร ที่ระดับความลึก 3,800 เมตร ซึ่งเชื่อว่าตัวถังเรือดำน้ำระเบิดออก หลังถูกแรงดันน้ำมหาศาลจากภายนอกบีบอัดอย่างรุนแรงเฉียบพลัน (Implosion)

อดีตพนักงานของโอเชียนเกต เคยเตือนบริษัทแล้วเรื่องความปลอดภัยของตัวถังเรือ ที่สร้างจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ โดยอ้างว่าแบบจำลองขนาดเล็กของไททัน แสดงให้เห็นช่องโหว่ของไฟเบอร์คาร์บอนระหว่างการทดสอบแรงดัน ขณะที่โอเชียนเกตอ้างว่าทำการทดสอบการดำน้ำของไททันมากกว่า 50 ครั้ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไททันไม่เคยผ่านการรับรองของหน่วยงานอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

โศกนาฏกรรมครั้งนี้ส่งผลให้ลูกเรือ 5 คนเสียชีวิตทั้งหมด ได้แก่ สต็อกตัน รัช นักธุรกิจชาวอเมริกัน ซีอีโอโอเชียนเกต ปอล อองรี นาร์โฌเลต์ นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญด้านเรือไททานิก ฮามิช ฮาร์ดิง มหาเศรษฐี นักสำรวจชาวอังกฤษ ชาห์ซาดา ดาวูด นักธุรกิจชาวอังกฤษเชื้อสายปากีสถาน และลูกชายของเขา สุเลมาน ดาวูด

ข่าวเด่นรอบโลก

วิกฤติธนาคารสหรัฐ-ยุโรป ป่วนตลาดการเงินโลก 

ช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 สหรัฐทำให้ตลาดการเงินโลกสั่นสะเทือน จากการที่ธนาคารระดับภูมิภาค ประกาศล้มละลายถึง 3 รายต่อเนื่องกัน เริ่มจากซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ สถาบันการเงินใหญ่อันดับที่ 16 ของสหรัฐ ตามด้วยซิกเนเจอร์ แบงก์ และเฟิร์สต์ รีพับลิค แบงก์ ก่อนที่จะคลี่คลายลง หลังจากที่รัฐบาล ธนาคารกลางสหรัฐ และธนาคารรายใหญ่ ๆ  ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ

สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ 3 ธนาคารล้ม มาจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าของพันธบัตรที่ธนาคาร และสถาบันการเงินเหล่านี้นำเงินไปลงทุนลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อลูกค้าต้องการถอนเงินในเวลาพร้อมกัน จึงทำให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินต้องรับรู้ผลการขาดทุนของเงินลงทุน

การล้มของทั้ง 3 ธนาคาร สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินโลกอย่างหนัก และสถานการณ์ยิ่งย่ำแย่ลงไปอีก จากการที่ “เครดิต สวิส” ธนาคารรายใหญ่อันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ เจอวิกฤติทางการเงินอย่างรุนแรง ประกาศตัวเลขขาดทุนสุทธิ 1,400 ล้านฟรังก์สวิสในไตรมาส 4/2565  ส่งผลให้ยอดขาดทุนตลอดทั้งปีอยู่ที่ 7,300 ล้านฟรังก์ และ”ซาอุดี เนชันแนล แบงก์” ผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของธนาคาร ปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม เพราะจะทำให้ถือหุ้นในเครดิต สวิสมากกว่า 10% ซึ่งจะเป็นการทำผิดกฎระเบียบธนาคาร

กรณีของเครดิต สวิส ลงเอยด้วยข้อตกลงประวัติศาสตร์ จากการที่ ยูบีเอส ธนาคารรายใหญ่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ เข้ามาซื้อกิจการ ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ ในการทำข้อตกลงมูลค่าราว 3,300 ล้านดอลลาร์

ข่าวเด่นรอบโลก

“ทวิตเตอร์” เปลี่ยนแบรนด์-โลโก้ใหม่ “X”

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดัง “ทวิตเตอร์” ได้ปรับเปลี่ยนแบรนด์ และโลโก้ใหม่ เป็น “X”  แทนที่โลโก้เดิม ที่เป็นนกสีฟ้า ซึ่งได้รับการออกแบบในปี 2555

ก่อนหน้านั้น นายอีลอน มัสก์ เคยเปิดเผยเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2565 ภายหลังการประกาศเดินหน้าซื้อทวิตเตอร์ผ่านข้อตกลงมูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์ว่า การซื้อทวิตเตอร์คือการเร่งสร้างเอ็กซ์ (X) ซึ่งเป็น “แอปที่ทำได้ทุกอย่าง” ภายใน 3-5 ปี

ขณะที่ นางลินดา ยัคคารีโน ซีอีโอทวิตเตอร์ ได้ทวีตข้อความกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่า X คือสถานะแห่งอนาคตของการมีปฏิสัมพันธ์แบบไร้ขีดจำกัด โดยมุ่งเน้นไปที่เสียง วิดีโอ การส่งข้อความ การชำระเงิน/การธนาคาร สร้างตลาดระดับโลกสำหรับแนวคิด สินค้า บริการ และโอกาส

อินเดีย

“อินเดีย” แซงหน้า “จีน” ประเทศมีประชากรมากสุดในโลก

ในเดือนเมษายน 2566 อินเดีย ได้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก แซงหน้าจีน โดยข้อมูลของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า นับถึงสิ้นเดือนเมษายน จำนวนประชากรอินเดียอยู่ที่ 1,425,775,850 คน โดยะมีจำนวนประชากรมากกว่าจีนจำนวน 2.9 ล้านคน

ปัจจัยที่ทำให้อินเดียแซงหน้าจีน มาจากอัตราการการเกิดของประชากรจีน ที่ลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อไม่นานมานี้ โดยในปี 2565 ตัวเลขประชากรของจีนลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมา ซึ่งกองทุนประชากรยูเอ็น ระบุว่า ประชากรจีนอาจลดลงต่ำกว่า 1,000 ล้านคน ก่อนสิ้นศตวรรษนี้ และคาดว่า ประชากรอินเดียจะเพิ่มจำนวนต่อเนื่องเป็นเวลาหลายทศวรรษ

ทั้งนี้ การที่ประชากรอินเดียแซงหน้าจีนนั้น อาจมีความสำคัญบนเวทีระหว่างประเทศ เช่น อินเดียอาจใช้เรื่องของจำนวนประชากรเป็นข้ออ้างในการขอสิทธิการมีที่นั่งเป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐ

ข่าวเด่นรอบโลก

พิธีราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3-เจ้าชายแฮร์รี ออกหนังสือแฉราชวงศ์ 

ในปี 2566 ราชวงศ์อังกฤษ ได้รับความสนใจจากทั่วโลกอย่างมาก ทั้งในเรื่องดี อย่างพระราชพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และเรื่องที่ไม่ค่อยดีนักกับการที่เจ้าชายแฮร์รี โอรสองค์เล็กของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ออกหนังสือบันทึกความทรงจำ Spare ที่แฉเรื่องราวต่าง ๆ ของราชวงศ์

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 สหราชอาณาจักร ได้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ขึ้น ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์  ถือเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่จัดขึ้นอีกครั้งในรอบ 70 ปี นับตั้งแต่ปี 2496 โดยมีอาร์คบิชอปแห่งแคนเทอเบอรี เป็นผู้ประกอบพิธี และมีผู้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานทั้งสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ กษัตริย์ พระราชวงศ์ ผู้นำโลก รวมถึงแขกอื่น ๆ รวม 2,000 คน

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณว่า “จะพิทักษ์รักษากฎหมายของแผ่นดินและศาสนจักรอังกฤษด้วยความยุติธรรม” โดยทรงลงพระปรมาภิไธยเป็นลายลักษณ์อักษร

ขณะที่ Spare หนังสือเล่มใหม่ของเจ้าชายแฮร์รี ก็สร้างความฮือฮาอย่างมาก จากเนื้อหาที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพระองค์ต่อสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระบิดา เจ้าชายวิลเลียม พระเชษฐา และรัชทายาทลำดับหนึ่งของบัลลังก์อังกฤษ และพระราชวงศ์อังกฤษพระองค์อื่น ๆ

เรื่องราวในหนังสือรวมถึง เรื่องที่พระองค์เคยทะเลาะวิวาทกับเจ้าชายวิลเลียม จากการถกเถียงกันเกี่ยวกับ เมแกน พระชายาของเจ้าชายแฮร์รี และยังมีเรื่องของสมเด็จพระราชินีคามิลลา ที่ระบุว่า พระองค์ และพระเชษฐาทรงเคยขอไม่ให้พระบิดาสมรสกับคามิลลา

ฮุน มาเนต

“ฮุน มาเนต” ผู้นำคนใหม่กัมพูชาในรอบ 40 ปี 

ฮุน มาเนต บุตรชายคนโตของฮุน เซน ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกัมพูชา หลังจากที่บิดาของเขาประกาศชัยชนะแบบถล่มทลายในการเลือกตั้ง ที่ปราศจากคู่แข่งเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2566

ก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมือง ผู้นำคนใหม่ของกัมพูชา ครองตำแหน่งระดับสูงหลายตำแหน่งในกองทัพกัมพูชา ไม่ว่าจะตำแหน่งรองผู้บัญชาการกองกำลังอารักขานายกรัฐมนตรีฮุน เซน บิดาของเขา ผู้บัญชาการหน่วยต่อต้านก่อการร้าย ผู้บัญชาการกองทัพ และรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดกัมพูชา ส่วนในเส้นทางสายการเมือง เขาคือ ผู้นำปีกคนรุ่นใหม่ภายในพรรคประชาชนกัมพูชา และเป็นคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา

การที่ ฮุน เซน และรัฐบาลพรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) ได้กำจัดศัตรูทางการเมืองหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจศาล สั่งยุบพรรคกู้ชาติกัมพูชา (ซีเอ็นพีอาร์) ในปี 2560 ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง หรือปิดสื่ออิสระ ถูกมองว่า เป็นการเตรียมการของฮุน เซน เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจเป็นไปด้วยความราบรื่น ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนถ่ายอำนาจครั้งแรกในรอบ 4 ทศวรรษ

shutterstock 2186013361

ปี 2566 โลกร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ 

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกประกาศว่า ปี 2566 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยอุณหภูมิโลกสูงขึ้นประมาณ 1.4 องศาเซลเซียส เหนือระดับยุคก่อนอุตสาหกรรม และ สูงกว่าสถิติเดิมที่บันทึกไว้ในปี 2559 ซึ่งโลกมีอุณหภูมิอุ่นกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมประมาณ 1.2 องศาเซลเซียส

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าโลกกำลังจะเกินขีดจำกัดภาวะโลกร้อนในระยะยาวที่ 1.5 องศาเซลเซียส ตามที่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า เป็นตัวเลขสูงสุดในการหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ก่อให้เกิดหายนะ ภายใต้ข้อตกลงปารีสปี 2558

ในปีนี้ น้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกช่วงฤดูหนาว ขยายตัวต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยน้อยกว่าสถิติครั้งก่อนประมาณ 1 ล้านตารางกิโลเมตร ทั้งธารน้ำแข็งของสวิตเซอร์แลนด์ ยังสูญเสียปริมาตรที่เหลืออยู่ประมาณ 10% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ไฟป่าได้เผาผลาญพื้นที่ป่าเป็นประวัติการณ์ในแคนาดา ซึ่งคิดเป็นประมาณ 5% ของพื้นที่ป่าของประเทศ

นักวิทยาศาสตร์ บอกด้วยว่า สถานการณ์ในปี 2567 อาจเลวร้ายกว่านี้ เนื่องจากผลกระทบของเอลนีโญ มีแนวโน้มที่จะถึงจุดสูงสุดในฤดูหนาวนี้ และส่งผลให้อุณหภูมิจะสูงขึ้นในปีหน้า

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo