World News

ยักษ์อสังหาฯ จีน ‘เอเวอร์แกรนด์’ ยื่นล้มละลายในสหรัฐ แบกหนี้กว่า 3 แสนล้านดอลล์

“เอเวอร์แกรนด์” ยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ของจีน ยื่นขอการคุ้มครองกรณีล้มละลายในสหรัฐแล้ว ท่ามกลางวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่รุนแรงมากขึ้น

บีบีซี รายงานว่า การยื่นขอการคุ้มครองล้มละลายตามกฎหมายสหรัฐ หมวดที่ 15 ต่อศาลนครนิวยอร์ก เมื่อวานนี้ (17 ส.ค.) จะช่วยให้ เอเวอร์แกรนด์ ที่กำลังติดหนี้สินมหาศาล สามารถคุ้มครองทรัพย์สินของทางบริษัทในสหรัฐได้ ระหว่างที่กำลังเดินหน้าทำข้อตกลงกับผู้ปล่อยสินเชื่อ เพื่อกู้เงินหลายพันล้านดอลลาร์มาชำระหนี้

เอเวอร์แกรนด์

บริษัท เอเวอร์แกรนด์ ประสบปัญหาผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่เมื่อปี 2564 จนสร้างแรงกระเพื่อมต่อตลาดหุ้นทั่วโลก และการยื่นขอการคุ้มครองล้มละลายครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความน่าวิตกต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีน มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก

ที่ผ่านมา บริษัทพยายามเจรจาข้อตกลงกับผู้ปล่อยกู้มาอย่างต่อเนื่อง นับแต่ผิดนัดชำระหนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยปัจจุบัน ประเมินว่าทางบริษัทมีหนี้สินมากถึง 300,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 10.6 ล้านล้านบาท โดยหุ้นของทางบริษัทถูกระงับซื้อขายมาตั้งแต่เดือน มีนาคม 2565

ไม่เพียงเท่านั้น เอเวอร์แกรนด์ ยังได้เปิดเผยเมื่อเดือนที่แล้วว่า ได้สูญเสียทุนทรัพย์ไปมากถึง 80,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์อีกแห่งของจีน คือ คันทรี การ์เดน (Country Garden) เตือนว่า อาจขาดทุนถึง 7,600 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีนี้

ไม่เพียง เอเวอร์แกรนด์ และคันทรี การ์เดน เท่านั้น แต่บริษัทขนาดใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ในจีนอีกหลายแห่ง ก็กำลังประสบปัญหาในการหาเงินทุนมาดำเนินโครงการให้เสร็จลุล่วง

“กุญแจสำคัญของเรื่องนี้ คือการดำเนินโครงการที่สร้างค้างไว้ให้สำเร็จ เพราะอย่างน้อยก็จะทำให้การเงินหมุนไปได้” สตีเฟน โคเครน จากบริษัทวิจัยด้านเศรษฐกิจ มูดีส์ อะนาลีติกส์ กล่าว

เขาเสริมว่า บ้านหลายแห่งของเอเวอร์แกรนด์ เป็นบ้านแบบพรีเซล ซึ่งลูกค้าสามารถชำระเงินมัดจำไว้ล่วงหน้า และจ่ายส่วนที่เหลือในวันที่กำหนด ดังนั้น หากการก่อสร้างหยุดชะงัก ผู้ซื้อก็จะไม่ผ่อนชำระค่างวดอีกต่อไป และยิ่งทำให้การเงินของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประสบปัญหา

เอเวอร์แกรนด์

นักวิเคราะห์ ระบุด้วยว่า การล้มละลายของเอเวอร์แกรนด์ จะทำให้เกิดผลกระทบ ที่แบ่งออกได้เป็น 3 ประการใหญ่ ๆ โดยอย่างแรกคือ การที่คนจำนวนมากซื้ออสังหาริมทรัพย์จากเอเวอร์แกรนด์ ก่อนที่จะเริ่มมีการก่อสร้าง พวกเขาจ่ายค่ามัดจำแล้ว และอาจจะเสียเงินจำนวนนั้นไป ถ้าบริษัทล้มละลาย

ประการที่สอง หลายบริษัทได้ทำธุรกิจร่วมกับเอเวอร์แรนด์ อาทิ บริษัทออกแบบ บริษัทก่อสร้าง และบริษัทขายวัสดุต่าง ๆ ซึ่งจะเสี่ยงล้มละลายเช่นกัน และประการที่สาม  คือ ผลกระทบต่อระบบการเงินของจีน

เมื่อปี 2564 แมตที เบคิงก์ จาก อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต ซึ่งเป็นหน่วยวิเคราะห์ข้อมูลทางเศรษฐกิจของนิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ กล่าวว่า ผลกระทบทางการเงิน ที่เกิดจากวิกฤติเอเวอร์แกรนด์ จะกว้างมาก โดยมีรายงานว่า ยักษ์อสังหาริมทรัพย์รายนี้ มีหนี้กับธนาคารในประเทศ 171 แห่ง และบริษัททางการเงินอื่น ๆ อีก 121 แห่ง

เมื่อผิดนัดชำระหนี้ ธนาคาร และผู้ให้กู้อื่น ๆ ก็ปล่อยกู้ได้น้อยลง นำไปสู่ปัญหาสินเชื่อตึงตัว หรือ เครดิต ครันช์ (credit crunch) ซึ่งถือเป็นข่าวร้ายสำหรับจีน เพราะบริษัทต่าง ๆ ที่ไม่สามารถกู้ยืมได้ จะขยายตัวได้ยาก และในบางกรณีจะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ผลทางอ้อมคือ ความน่าลงทุนในสินทรัพย์จีนก็ลดลงในหมู่นักลงทุน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo