World News

ชี้ ‘ทุนสำรอง’ แกร่ง สะท้อนเสถียรภาพ ‘เศรษฐกิจ-เงิน’ กัมพูชา

ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ ทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่เพิ่มขึ้นของกัมพูชา สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในสกุลเงินเรียล อัตราแลกเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพ สภาพคล่องสูง และเศรษฐกิจที่มั่นคง ซึ่งสามารถต้านทานผลกระทบ หรือวิกฤติจากภายนอกได้

เว็บไซต์พนมเปญ โพสต์ รายงานอ้างข้อมูลของธนาคารกลางกัมพูชา ที่แสดงให้เห็นว่า นับถึงวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา กัมพูชามีทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 3.2% มาอยู่ที่ 18,400 ล้านดอลลาร์ จากจำนวน 17,800 ล้านดอลลาร์ เมื่อสิ้นปี 2565 แม้จะมีอุปสรรคจากทั่วโลกในภาคการธนาคาร ซึ่งรวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

กัมพูชา

ในรายงานผลการดำเนินงานประจำปีล่าสุด ธนาคารกลางกัมพูชา ระบุว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากรายได้จากการลงทุนต่างประเทศ ราคาทองคำ และเงินฝากของรัฐบาล ธนาคาร และสถาบันการเงินในธนาคารกลางเพิ่มขึ้น

“ทุนสำรองในระดับสูง บ่งชี้ถึงความสามารถในการรักษาอัตราแลกเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพ ความเชื่อมั่นในสกุลเงินของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการกู้ยืมจากต่างประเทศ ซึ่งให้ความคุ้มครองที่เพียงพอเพื่อตอบสนองความต้องการด้านสภาพคล่องต่อวิกฤติภายนอก”

ขณะที่ ชัย โบรา กรรมการผู้จัดการโบเวอร์  กรุ๊ป เอเชีย (บีจีเอ) บริษัทที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ ที่สนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก กล่าวถึงการเพิ่มขึ้นของทุนสำรองระหว่างประเทศที่น่าประทับใจ เนื่องจากเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า เมื่อเทียบกับตัวเลขเมื่อทศวรรษที่แล้ว

เขาบอกว่า การเพิ่มขึ้นดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจกัมพูชา โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังยุคโควิด-19 ขยายตัวเฉลี่ยที่ 7% ทำให้รายได้และการออมของประชาชนเพิ่มขึ้น

โบรา อธิบายเพิ่มเติมว่า การเติบโตของทุนสำรองระหว่างประเทศ เป็นตัวบ่งชี้ถึงความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจของกัมพูชา ต่อภัยคุกคามภายนอก และเน้นย้ำถึงความสามารถของประเทศในการฝ่าฟันวิกฤติโลก ทั้งยังรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ รวมถึง ความสามารถในการนำเข้า

ทางด้าน แอนโธนี กัลลิอาโน ซีอีโอกลุ่มบริษัทบริการทางการเงิน  กัมโบเดีย อินเวสต์เมนต์ แมเนจเมนท์ แสดงความเห็นว่า กัมพูชายังคงรักษาระดับทุนสำรองไว้ได้สูงกว่าที่กำหนดไว้โดยทั่วไปสำหรับประเทศกำลังพัฒนา

กัมพูชา

“ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในระดับสูง ช่วยลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ใช้หนี้ที่ครบกำหนดในระยะสั้น และช่วยให้อัตราดอกเบี้ยลดลง ซึ่งเป็นเงื่อนไขเชิงบวกทั้งหมด สำหรับการออกตราสารหนี้สาธารณะเมื่อเร็ว ๆ นี้”

กัลลิอาโน อธิบายว่าโดยทั่วไปแล้วประเทศกำลังพัฒนามักสำรองเงินตราต่างประเทศของตนไว้มากเป็นประวัติการณ์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน และเพื่อเป็นการป้องกันตนเอง และป้องกันวิกฤติค่าเงิน

“แม้ว่าเงินเรียลจะอ่อนค่าลงในช่วงปลายปี แต่ก็ยังฟื้นตัวได้ โดยได้แรงหนุนจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าที่สุดในรอบสองทศวรรษ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระดับทุนสำรองระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ เงินเรียลจึงไม่ได้อ่อนค่า แบบเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาคอื่น ๆ กำลังเจออยู่”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo