สื่อต่างชาติเกาะติดการประชุมรัฐสภาของไทย เพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ซึ่ง “พิธา” ได้คะแนนเสียงสนับสนุนไม่ถึงเป้าหมาย
วีโอเอรายงานว่า บรรดาสื่อต่างประเทศ ต่างพากันรายงานถึง การประชุมรัฐสภาของไทยเมื่อวานนี้ (13 ก.ค.) ที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เสียงสนับสนุนเพียงพอที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้
รอยเตอร์และเดอะการ์เดียน รายงานว่า แม้นายพิธา ได้จะรับการเสนอชื่อแบบไร้คู่แข่ง และมีเสียงจากพรรคร่วมหนุนหลังในการโหวตครั้งนี้ แต่กลับได้คะแนนเสียงเพียง 324 เสียง ซึ่งมาจากฝั่งส.ว. 13 เสียง ขณะที่มีโหวตค้าน 182 เสียง และงดออกเสียง 199 เสียง
นายพิธา กล่าวว่า ยอมรับผลที่ออกมาวันนี้ แต่ไม่ยอมแพ้ ยอมรับว่าได้ไม่ถึง 376 เสียง ได้ 324 โหวต และมี 200 คน ที่งดออกเสียง
“ผมยอมรับด้วยว่าผลที่ได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ในแง่ที่ว่ามีหลายคนที่ไม่ได้มาเข้าร่วมประชุม และบางคนก็ไม่ได้ลงคะแนนตามที่ใจต้องการ ผมเข้าใจว่าบางคนได้รับความกดดัน หรือมีแรงจูงใจ ที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถลงคะแนนเสียงไปในทางเดียวกับเสียงของประชาชนได้ แต่ผมไม่ยอมแพ้ ผมจะหาวิธีอีกครั้งเพื่อรวบรวมให้ได้ 376 โหวตต่อไป”
ทางด้านเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ รายงานว่า นายพิธา ยืนยันว่า เขาจะ “ไม่ยอมแพ้” หลังจากได้คะแนนเสียงสนับสนุนไม่เพียงพอในการเป็นนายกรัฐมนตรี ในการลงมติครั้งแรก พร้อมกล่าวขอบคุณ 13 เสียง จาก ส.ว. ที่กล้าหาญมากพอ ที่จะสะท้อนเสียงของประชาชน
ขณะที่ อัลจาซีราห์ รายงานว่า ความพ่ายแพ้ของนายพิธาในการโหวตครั้งแรก อาจนำไปสู่ภาวะชะงักงันทางการเมือง และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของไทยในอีกหลายสัปดาห์จากนี้ และพันธมิตรของเขา จะต้องเลือกระหว่างสนับสนุนเขาอีกครั้งในการประชุมสภานัดต่อไปในวันที่ 19 กรกฎาคม หรือจะเลือกเสนอชื่อแคนดิเดตอื่นขึ้นมา
ในเรื่องนี้ เดอะการ์เดียน รายงานว่า มีแนวโน้มที่พรรคเพื่อไทย จะเสนอชื่อแคนดิเดตของพรรคในการโหวตครั้งต่อไป โดย รศ.ดร.พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล แสดงความเห็นกับเดอะการ์เดียนว่า หากมีการเสนอชื่อนายพิธาอีกครั้งในการโหวตครั้งหน้า มีแนวโน้มว่าเขาอาจจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้
“สำหรับ ส.ว. จะเป็นเรื่องยากสำหรับพรรคก้าวไกล ที่จะได้รับคะแนนเสียงมากขึ้นในการโหวตรอบสอง และสิ่งที่อันตรายก็คือ ผู้ที่โหวตให้นายพิธาอาจถูกล็อบบี้จากส.ว.รายอื่นเพื่อไม่ให้ลงคะแนนให้อีกในรอบสอง”
รศ.ดร. พรรณชฎา เสริมว่า มีความเป็นไปได้ว่า แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยอาจได้รับการยอมรับในสภามากกว่า ทั้งจากกลุ่มที่แค่ต้องการให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ครองอำนาจมาตั้งแต่ก่อรัฐประหารเมื่อปี 2557 ออกไป แต่อาจไม่เป็นที่พึงพอใจสำหรับคนรุ่นใหม่ และอาจนำไปสู่การเดินขบวนได้
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘ก้าวไกล’ ประกาศเดินหน้าต่อ! ลั่น 324 เสียงยังไม่มากพอส่ง ‘พิธา’ นั่งนายกฯ
- ‘พิธา’ บอก ‘ยอมรับ แต่ไม่ยอมแพ้’ เดินหน้าสู่ โหวตนายกฯ ครั้งที่ 2
- อัปเดตผลโหวตนายกฯ ‘พิธา’ ได้ 324 คะแนน งดออกเสียง 199 คะแนน ไม่ผ่าน!!