World News

‘ฟินเทคเอเชีย’ นำโด่งระดมทุนทั่วโลก

เมื่อปีที่แล้ว บริษัทเทคโนโลยีด้านการเงิน (ฟินเทค) ในเอเชีย ระดมทุนได้ 29,800 ล้านดอลลาร์ สูงเกือบ 2 เท่าของกลุ่มบริษัทประเภทเดียวกันในอเมริกาเหนือ จากการที่นักลงทุนพากันพุ่งเป้ามายังภูมิภาคนี้ ในฐานะผู้นำนวัตกรรมบริการชำระเงิน

US FinTech Market

แอคเซนเจอร์ บริษัทที่ปรึกษาสหรัฐ เปิดเผยข้อมูลล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่า ราว 54% ของการลงทุนด้านฟินเทคทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว ที่ 55,300 ล้านดอลลาร์ มุ่งตรงมาที่เอเชียแปซิฟิค โดยที่จีนเพียงประเทศเดียว ก็มีเม็ดเงินลงทุนคิดเป็นสัดส่วนราว 46% ของยอดรวมทั้งหมด

การที่โครงสร้างทางการเงินของเอเชีย ยังไม่เติบโตอย่างเต็มที่ ทำให้ภูมิภาคนี้เต็มไปด้วยความต้องการวิธีการถ่ายโอนเงินที่รวดเร็ว และง่ายดาย รวมถึงบริการต่างๆ ที่จะตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งการลงทุนในฟินเทคที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า ยังสะท้อนให้เห็นถึงการตระหนักว่า ตลาดหลายๆ แห่ง อาทิ จีน กำลังเป็นแหล่งดึงดูดเม็ดเงินในด้านนี้อย่างมาก

แอนท์ ไฟแนนเชียล หน่วยงานด้านการรับชำระเงินดิจิทัล ในเครืออาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซ ของจีน มีส่วนช่วยหนุนตัวเลขการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในจีนอย่างมาก หลังสามารถดึงเม็ดเงินลงทุนมาได้มากถึง 14,000 ล้านดอลลาร์จากการเปิดระดมทุนเพียงรอบเดียวเท่านั้น

000 15P9HY

นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในแอนท์ รวมถึง เทมาเส็ก และจีไอซี 2 หน่วยงานบริหารจัดการความมั่งคั่งของรัฐบาลสิงคโปร์ คาซานาห์ เนชันแนล หน่วยงานด้านการลงทุนสัญชาติมาเลเซีย และคณะกรรมการการลงทุนเงินบำนาญแคนาดา

จีนยังเป็นบ้านเกิดของบริษัทที่ระดมทุนได้มากสุดเป็นอันดับ 2 และ 3 ของโลก โดยเม็ดเงินจำนวน 4,300 ล้านดอลลาร์มุ่งไปที่ ตู้ เสี่ยวหมาน ไฟแนนเชียล ที่เชื่อมโยงกับไป๋ตู้ ผู้ให้บริการค้นหาข้อมูลออนไลน์ ส่วนลู่ ดอท คอม หรือ ลู่แฟ็กซ์ ผู้ทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อออนไลน์ และมีผิงอัน อินชัวแรนซ์ กรุ๊ป หนุนหลังอยู่ ได้รับเงินลงทุนจำนวน 1,300 ล้านดอลลาร์

ทาคาฟูมิ มูราคามิ กรรมการผู้จัดการ แอคเซนเจอร์ ในญี่ปุ่น กล่าวว่า มูลค่าการลงทุนต่อข้อตกลงแต่ละฉบับในบริษัทฟินเทคเอเชียกำลังเพิ่มมากขึ้น

“ไม่ใช่แค่สตาร์ทอัพเท่านั้น ที่ได้รับเงินสด แต่บริษัทขนาดใหญ่ก็มีเม็ดเงินลงทุนมากขึ้นด้วย”

นอกจากมองหาโอกาสในการเติบโตแล้ว การที่นักลงทุนทุ่มเงินเข้ามาในธุรกิจเหล่านี้ ยังเป็นผลมาจากความพยายามที่จะทำให้ประเทศพัฒนาแล้ว ได้รู้จักกับบริการการเงินนวัตกรรมใหม่ ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกกำลังพัฒนา

ยิ่งไปกว่านั้น กฎระเบียบข้อบังคับที่มีอยู่อย่างหลวมๆ ยังเป็นอีกเงื่อนไขที่ทำให้ฟินเทคขยายตัวอย่างมากในภูมิภาค

000 M43RZ

ซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ด้านการลงทุน และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของแนวโน้มข้างต้น

เมื่อปี 2560 กองทุน “วิชัน ฟันด์” มูลค่าเกือบ 100,000 ล้านดอลลาร์ของซอฟต์แบงก์ ได้เข้าไปถือหุ้นในเพย์ทีเอ็ม ผู้ให้บริการชำระเงินผ่านมือถือชั้นนำของอินเดีย ก่อนที่จะเกิดการร่วมทุนระหว่างซอฟท์แบงก์ กับยาฮู เจแปน เปิดบริการชำระเงินออนไลน์ ภายใต้ชื่อเพย์เพย์ ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดของเพย์ทีเอ็มเข้ามาใช้

ที่มา :  Nikkei Asian Review

Avatar photo