World News

‘ไอเอ็มเอฟ’ หั่นคาดการณ์ ‘เศรษฐกิจโลกปี 66’ โตแค่ 2.8% ‘วิกฤติธนาคาร’ ทำความเสี่ยงเพิ่ม

ในช่วงต้นปี 2566 บรรดานักเศรษฐศาสตร์ และผู้นำภาคธุรกิจ ต่างมีมุมมองด้านบวกว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก อาจจะไม่ชะลอตัวมากเท่าที่วิตกกัน

ปัจจัยที่ช่วยหนุนให้เกิดการมองในแง่ดีดังกล่าว รวมถึง การที่จีนเปิดประเทศอีกครั้ง สัญญาณความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจในยุโรป และราคาพลังงานที่ร่วงลง

แต่วิกฤติที่เกิดขึ้นกับภาคธนาคารในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนแปลงมุมมองดังกล่าวไปอย่างสิ้นเชิง

เศรษฐกิจโลก

ล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกมาปรับลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลก โดยอ้างถึง “ความผันผวน” ในตลาดการเงินที่เพิ่มขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้

ไอเอ็มเอฟ ประเมินว่า เศรษฐกิจในปี 2566 จะชะลอการเติบโตลงมาอยู่ที่ 2.8% จากที่ขยายตัว 3.4% ในปี 2565 ลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า จะเติบโต 2.9%

ตราบเท่าที่ภาคการเงินยังไร้เสถียรภาพอยู่ ก็จะมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นอย่างมาก และดุลความเสี่ยงก็สลับไปอยู่ขาลงอย่างชัดเจน 

ความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเพิ่มสูงขึ้น หลังในเดือนมีนาคม เกิดเหตุการณ์ ธนาคารระดับภูมิภาคของสหรัฐ 2 ราย คือ ซิลิคอน วัลเลย์ (เอสวีบี) และซิกเนเจอร์ (เอสบี) ล้ม

ตามด้วยการสูญเสียความเชื่อมั่นในการดำเนินงานของ “เครดิต สวิส” ธนาคารรายใหญ่อันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ ที่ลงเอยด้วยการขายกิจการให้กับ “ยูบีเอส” ธนาคารสัญชาติเดียวกันที่มีขนาดใหญ่กว่า ภายใต้ข้อตกลงที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์

แม้จะไม่เกิดวิกฤติธนาคารขึ้นมา แต่เศรษฐกิจโลกก็ต้องรับมือกับปัญหาที่มีอยู่อย่างท่วมท้นอยู่แล้ว รวมถึง อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง ที่ยืดเยื้อมาระยะหนึ่งแล้ว รวมถึง อัตราดอกเบี้ยที่ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อสู้กับเงินเฟ้อ ระดับหนี้ที่สูงขึ้น และสงครามยูเครน

อย่างไรก็ดี ไอเอ็มเอฟ ยอมรับว่า การประเมินถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ภายใต้สภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน เป็นเรื่องยาก พร้อมเตือนว่า มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกจะเติบโตอย่างอ่อนแอต่อไปอีกหลายปี

โดยหากมองไปยังปี 2571 นั้น กองทุนคาดว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวราว 3% ซึ่งเป็นการประเมินสถานะเศรษฐกิจโลกในระยะกลางในระดับต่ำสุด นับตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา

เศรษฐกิจโลก

ไอเอ็มเอฟ ชี้ว่า การขยายตัวอย่างเชื่องช้านี้ ส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบที่ตกค้างอยู่จากการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 แรงงานที่มีอายุมากขึ้น และการแตกกระจายทางภูมิรัฐศาสตร์ อย่าง การที่อังกฤษตัดสินใจถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐ กับจีน และการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

นอกจากนี้ ยังมองว่า อัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า มีแนวโน้มที่จะกลับไปอยู่ในระดับก่อนเกิดโควิดระบาด ก็ต่อเมื่อสถานการณ์เงินเฟ้อในระดับสูงในปัจจุบันผ่านพ้นไปแล้ว

ทั้งนี้ การคาดการณ์ล่าสุดของไอเอ็มเอฟ ใกล้เคียงกับการประเมินก่อนหน้านี้ของธนาคารโลก ที่คาดว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวราว 2% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากตัวเลขคาดการณ์เมื่อเดือนมกราคมว่า จะขยายตัว 1.7%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo