The Bangkok Insight

‘กสิกรไทย’ เตือนภัยมุกใหม่ ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ ลูกค้าธนาคารโดนแล้ว สูญเงินกว่า 6 แสนบาท

ธนาคารกสิกรไทย เตือนภัยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ใช้มุกใหม่ นำเทคโลยีเข้ามาใช้ ตัดต่อคลิปวีดิโอ หลอกเหยื่อกำลังคุยกับตำรวจตัวจริง เผย ลูกค้าธนาคารเพิ่งโดนหลอกสูญไปแล้วกว่า 600,000 บาท จัดระบบตรวจสอบบัญชีผิดปกติ และอัปเดตกลโกงมิจฉาชีพ พร้อมรณรงค์ 3 แนวทางรู้ทันมิจฉาชีพ #ใช้สติป้องกันสตางค์ “ไม่เชื่อ – ไม่ให้ข้อมูล – ไม่โอน” ผ่านสื่อต่างๆ ของธนาคาร

shutterstock 1514331686

เตือนภัยมุกใหม่ ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’

นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แก๊งคอลเซ็นเตอ ร์ที่ใช้วิธีหลอกลวงได้แยบยล และดูน่าเชื่อถือมากขึ้น หลอกเหยื่อทางโทรศัพท์ สร้างสถานการณ์ให้ตื่นตระหนก หรือหลอกล่อด้วยเงินรางวัลต่าง ๆ ทำให้มีจำนวนผู้ตกเป็นเหยื่อ และสูญเสียทรัพย์ไปเป็นจำนวนมาก

กรณีล่าสุดเป็นกลโกงใหม่ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่เกิดขึ้นกับลูกค้าธนาคาร ซึ่งได้รับสายโทรศัพท์ ระบุเป็นเบอร์โทรจากต่างประเทศ อ้างตนเป็นพนักงานของบริษัทขนส่งเอกชน แจ้งเรื่องพัสดุมีของผิดกฎหมาย และขอให้เปิดวิดีโอคอล เพื่อพูดคุยกับตำรวจ แต่เป็นตำรวจตัวปลอม ที่ใช้เทคโนโลยี Deepfake ให้ภาพขยับแค่ปาก และใส่เสียงพูดเชิงข่มขู่ว่า พัสดุที่ส่งเป็นสมุดบัญชี ซึ่งต้องสงสัยว่าจะเป็นการฟอกเงิน

โดยจะขอตรวจสอบบัญชี ด้วยการให้โอนเงินออกจากบัญชีมาไว้ที่ตำรวจ เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ และพูดหลอกล่อจนลูกค้าโอนเงินให้ทั้งหมด และกว่าลูกค้าจะรู้ตัวว่าถูกหลอก แก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ถอนเงินจำนวนกว่า 600,000 บาทออกจากบัญชีไปแล้ว

แก๊งคอลเซ็นเตอร์

นายกฤษณ์ กล่าวต่อว่า ธนาคารได้วางแนวทางการทำงาน 3 ด้าน ในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้แก่

ดำเนินการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในโครงการระบบรับแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยจะมีการประสานการปฏิบัติงานระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ธนาคารให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และสอดคล้องกับรูปแบบอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

มีระบบตรวจสอบ และจัดการบัญชีที่มีธุรกรรมผิดปกติ เพื่อนำไปสู่แนวทางการป้องกัน และแก้ไขปัญหาทุจริตทางการเงินของมิจฉาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อัปเดตกลโกงมิจฉาชีพ และร่วมรณรงค์เผยแพร่ 3 แนวทาง รู้ทันมิจฉาชีพ และภัยไซเบอร์ #ใช้สติป้องกันสตางค์  “ไม่เชื่อ-ไม่ให้ข้อมูล-ไม่โอน” ผ่านสื่อต่าง ๆ ของธนาคาร

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo