Environmental Sustainability

ทำอย่างไรเมื่อโรงไฟฟ้าชีวมวลเกิดปัญหาสร้างผลกระทบ

การพัฒนา “โรงไฟฟ้า” เป็นหนึ่งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ เพราะพื้นที่ใดก็ตามที่มีไฟฟ้าใช้ นับเป็นตัวชี้วัดความเจริญของพื้นที่นั้น ๆ และไฟฟ้ายังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่

แต่การก่อสร้างโรงไฟฟ้า ไม่ว่าจะมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือพลังงานทดแทนอย่างชีวมวลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มักมีเสียงร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเดินเครื่องการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยเฉพาะปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เสี่ยง ปัญหาเหล่านี้หากไม่ได้รับการแก้ไขแต่เนิ่น ๆ อาจกลายเป็นปัญหาลุกลามและกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงการเกิดเรื่องร้องเรียนเป็นจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าชีวมวลที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

S08 06 Cover e1627218135600

กรมโรงงานอุตสาหกรรม รายงานว่าตั้งแต่ปี 2551-2556 พบว่า การประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลส่งผลกระทบ และสร้างเหตุเดือดร้อนรำคาญ เหตุร้องเรียนของชุมชนบริเวณรอบโครงการ ในหลายพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาฝุ่นละออง รองลงมาคือปัญหากลิ่น

นอกจากนี้โรงไฟฟ้าชีวมวลบางแห่งมีที่ตั้งของโครงการที่อยู่ใกล้แหล่งชุมชน ซึ่งเหตุร้องเรียนส่วนใหญ่เกิดจาก โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งที่มีขนาดเล็กกำลังการผลิตต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ เช่น จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดบุรีรัมย์ และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีขนาดใหญ่ ที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 10 เมกะวัตต์ เช่น จังหวัดร้อยเอ็ด

ดังนั้นในการป้องกันและเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ จากสิ่งคุกคามด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกรณีโรงไฟฟ้าชีวมวล จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

ผลกระทบต่อสุขภาพ

เมื่อโรงไฟฟ้าชีวมวลเกิดปัญหาสร้างผลกระทบต่อสุขภาพ ต้องทำอย่างไร

มลพิษและสิ่งคุกคามต่อสุขภาพ ที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าชีวมวลมีหลายด้าน ทั้งมลพิษทางอากาศ ที่เป็นฝุ่นละออง ได้แก่ ฝุ่นรวม (TSP) ฝุ่น PM10 ฝุ่น PM2.5 ที่เป็นก๊าซ ได้แก่ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO₂) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO₂) ก๊าซคาร์บอนมอนอคไซด์ (CO) ก๊าซโอโซน (O₃)

นอกจากนี้ยังมีมลภาวะทางกลิ่น มลภาวะทางเสียง อุบัติเหตุและปัญหาการจรจร อันเนื่องมาจากการขนส่งเศษวัสดุทางการเกษตร ความเครียดและความรำคาญ มลพิษทางน้ำ และการขาดแคลนน้ำใช้ เนื่องจากโรงไฟฟ้าต้องใช้น้ำเป็นปริมาณมากในกระบวนการผลิตไฟฟ้า รวมถึงปัญหาจากขยะและของเสียอันตราย

การเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล จึงต้องเริ่มจากการพิจารณามลพิษ หรือสิ่งคุกคามต่อสุขภาพที่อาจปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมทั้งทางน้ำ อากาศ และทางดิน จึงต้องกำหนดตัวชี้วัดทางสิ่งแวดล้อม ที่ต้องตรวจวัดเพื่อติดตามการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีโอกาสหรือความเป็นไปได้ ที่คนบริเวณรอบ ๆ โรงไฟฟ้าจะสัมผัส และเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ

ผลกระทบต่อสุขภาพ

ดังนั้นจึงควรมีการตรวจติดตาม หรือเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อม ใน 2 รูปแบบ คือ ข้อมูลปฐมภูมิ (Primary data) เป็นข้อมูลซึ่งได้จากการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม และข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary data) เป็นข้อมูลที่ได้จากการเก็บรวบรวม จากฐานข้อมูลที่มีอยู่จากแหล่งต่าง ๆ รวมถึงที่ได้รับรายงานจากหน่วยงานรัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต เมื่อได้ข้อมูลแล้วก็นำมาวิเคราะห์ และจัดทำรายงาน

หากการรายงานเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด จะต้องมีการสื่อสารความเสี่ยงให้ประชาชนในพื้นที่ และผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบ โดยผลที่ได้จากการประเมินความเสี่ยง หากพบว่าประชาชนมีความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ยอมรับไม่ได้ ก็จะต้องทำการสื่อสารและจัดการความเสี่ยงต่อไป

นอกจากการสื่อสารเรื่องความเสี่ยงแก่ชุมชนแล้ว หากพบว่ามีการปนเปื้อนของสารมลพิษ ในสิ่งแวดล้อมที่เกินค่ามาตรฐานหรือมีความเสี่ยงสูง เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่จะต้องทำการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพในประชาชนกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพนั้น สามารถทำได้ใน 2 รูปแบบ คือ การเฝ้าระวังเชิงรุก (Active Surveillance) และการเฝ้าระวังเชิงรับ (Passive Surveillance)

โดย การเฝ้าระวังเชิงรุก เป็นการค้นหาผู้ป่วย หรือประชาชนกลุ่มเสี่ยงเชิงรุก เพื่อเพิ่มโอกาสการได้ข้อมูลการเกิดโรคมากขึ้น ส่วน การเฝ้าระวังเชิงรับ เป็นการใช้ประโยชน์จากข้อมูลการรายงานเป็นปกติประจำของผู้ที่เข้ามารับการบริการในสถานพยาบาล ในการเฝ้าระวังทั้ง 2 รูปแบบ หากพบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคที่ทำการเฝ้าระวัง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะต้องดำเนินการไปสู่การวินิจฉัย รักษา และฟื้นฟู

รวมถึงต้องมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการเฝ้าระวังทางด้านสุขภาพ เช่น การพัฒนาบุคลากร ระยะเริ่มต้น กิจกรรมสำคัญถือเป็นช่วงของการเตรียมความพร้อมของบุคลากรด้านสาธารณสุข ในพื้นที่ที่มีสถานประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวล ทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการผลิตไฟฟ้า มลพิษ และสิ่งคุกคามต่อสุขภาพ รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวล

วิธีการดำเนินงาน หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ต้องจัดบุคลากรที่มีประสบการณ์จากพื้นที่อื่น ๆ มาถ่ายทอดองค์ความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้แก่พื้นที่

นอกจากนี้ควร จัดทำแผนที่ชุมชน หรือ แผนที่ความเสี่ยง เพื่อให้ทราบแหล่งกำเนิดมลพิษทั้งหมด ที่อยู่ในชุมชนโดยรอบสถานประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวล และทราบถึงประชากรกลุ่มเสี่ยงที่อาศัยอยู่โดยรอบสถานประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อใช้ในการติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ

วิธีการดำเนินการ ในการจัดทำแผนที่เดินดิน โดยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งจะต้องระบุตำแหน่งให้ชัดเจน ทั้งที่ตั้งสถานประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวล สถานประกอบการอื่น ๆ ในรัศมี 1 กิโลเมตร ที่มีกิจกรรมหรือการปล่อยมลพิษ เช่น ห้างสรรพสินค้า บ่อฝังกลบขยะ ตลาด โรงสีข้าว เป็นต้น ตำแหน่งหลังคาเรือนโดยรอบสถานประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวล รัศมี 1 กิโลเมตร ตำแหน่งที่ตั้งระบบประปาหมู่บ้าน แหล่งน้ำผิวดิน เส้นทางการไหลของน้ำถนน สถานีอนามัยโรงเรียน วัด โรงพยาบาล เป็นต้น

อีกทั้งจะต้องมี การจัดทำข้อมูลสถานะสุขภาพของประชาชน ซึ่งในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง จะต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์เทียบค่าอ้างอิงของประเทศ เพื่อดูแนวโน้มเป็นระยะ ๆ โดยคัดเลือกตัวชี้วัดสุขภาพ ที่มีความสอดคล้องกับมลพิษจากโรงไฟฟ้าชีวมวล เช่น โรคหอบหืด ภูมิแพ้ ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หลอดลมอักเสบ ผิวหนังอักเสบ ผื่นคัน ผื่นแพ้ เป็นต้น

ตลอดจน การตรวจสุขภาพประชาชนตามความเสี่ยง ซึ่งมลพิษทางอากาศ ถือเป็นมลพิษหลักที่สำคัญ ที่เกิดจากจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวล หากประชาชนโดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยหอบหืด ผู้ป่วยโรคหัวใจ ได้รับมลพิษเข้าไป อาจก่อให้เกิดอาการกำเริบ หรือเพิ่มความรุนแรงของการเกิดโรคได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องมีการตรวจสุขภาพอนามัยของคนงาน พนักงานในสถานประกอบการ และประชาชนโดยรอบพื้นที่ เช่น ทุก 1 ปี
ทั้งนี้หลังจากมีการเก็บรวบรวมข้อมูลทางด้านสิ่งแวดล้อม และข้อมูลการเฝ้าระวังสุขภาพในแต่ละปีแล้ว หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ ควรมีการสื่อสารข้อมูลให้กับประชาชน ได้รับทราบถึงแนวทางการป้องกันตนเองจากมลพิษและอาการ ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ต่อผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง

ผลกระทบต่อสุขภาพ

นอกจากการเฝ้าระวังผลกระทบที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งจำเป็นในการดูแลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าชีวมวลแล้ว ยังมีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้โรงไฟฟ้าชีวมวลไม่สร้างผลกระทบ ซึ่งกรณีโรงไฟฟ้าทำให้เกิดความรำคาญในชุมชน ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย จะมีอำนาจเข้าไปดูแลตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535

แต่กลไกดูแลที่มีบทบาทสำคัญ คือ กระบวนการตรวจสอบของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในการพิจารณาให้ความเห็นประกอบการพิจารณาออกคำสั่ง เพื่อบังคับใช้กฎหมาย กรณีมีการร้องเรียน อุบัติเหตุ เหตุฉุกเฉิน และไม่มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาต

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ สำนักงาน กกพ. จะมีการลงเข้าไปตรวจพื้นที่ หากมีกรณีร้องเรียน หรือ เกิดปัญหาผลกระทบต่อชุมชน โดยมีอำนาจในการออกคำสั่งทางการปกครอง และหากไม่ปฏิบัติตาม คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีอำนาจในการสั่งพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวล

สิ่งที่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวล จะต้องดำเนินการเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชน ในประเด็นสำคัญ คือ

1. ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงฟ้าต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขประกอบการอนุญาต และคำสั่ง ระเบียบ ประกาศ และหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนด

2. ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานทางวิชาการ วิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย รวมทั้งให้บริการพลังงาน และรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบกิจการพลังงานตามที่กฎหมายกำหนด

3. หากพบว่าผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามที่กำหมายกำหนด สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) มีอำนาจหน้าที่ในการลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานประกอบกิจการของผู้รับใบอนุญาต และ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อาจมีคำสั่งให้พักใช้ หรือ เพิกถอนใบอนุญาตได้

ประชาชนในพื้นที่ หากได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ก็สามารถร้องเรียนในช่องทางต่าง ๆ ได้ ซึ่งหน่วยงานของรัฐมีอำนาจทางตามกฎหมาย เพื่อกำกับให้โรงไฟฟ้าชีวมวล ไม่สร้างผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ดังนั้นกรณีที่โรงไฟฟ้าชีวมวลสร้างผลกระทบ ทั้งทาง อากาศ เสียง น้ำ กลิ่น คมนาคมขนส่ง ขยะมูลฝอย และกากของเสีย เมื่อมีการตรวจพบ หรือ มีข้อร้องเรียนจากชาวบ้าน แล้วผลการตรวจสอบพบว่า เป็นความจริง ทาง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า เร่งทำการแก้ไขข้อผิดพลาดต่าง ๆ โดยเร่งด่วน แต่หากพบว่าเพิกเฉย หรือไม่ปฏิบัติตาม ก็สามารถสั่งพักใช้ หรือ เพิกถอนใบอนุญาต หรือยุติการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าในที่สุด

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight