Environmental Sustainability

โรงไฟฟ้าชีวมวล ต้องทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม

โรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นโรงไฟฟ้าประเภทหนึ่งที่ทำการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือผลิตไอน้ำจากเชื้อเพลิงจำพวกชีวมวล ซึ่งเชื้อเพลิงชีวมวลส่วนใหญ่ได้มาจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และเศษวัสดุที่เหลือจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม เช่น แกลบ ฟางข้าว ชานอ้อย มูลสัตว์ชนิดต่าง ๆ กะลามะพร้าว และ กะลาปาล์ม เป็นต้น

แม้ว่าต้นทุนการก่อสร้างและค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงชีวมวล จะไม่ได้ต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าประเภทอื่น แต่วัตถุดิบที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง มาจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร นับเป็นการลดปริมาณของเหลือทิ้ง ด้วยการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่บนโลกใบนี้ ได้คุ้มค่าเป็นอย่างมากตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน อีกทั้งยังสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้เกษตรกร และมีส่วนช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของไทยให้เจริญเติบโตมากยิ่งขึ้น

โรงไฟฟ้าชีวมวล

การพัฒนาการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าจากชีวมวล จำเป็นต้องปรับ “วิธีคิด” เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า จากเดิมที่คิดว่าสร้างระบบพลังงานและไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนความต้องการด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว โดยต้องปรับวิธีคิดต่อระบบไฟฟ้าและพลังงาน ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่กว้างขึ้นไปกว่าเพียงแค่การผลิตกระแสไฟฟ้า ให้เพียงพอต่อความต้องการ

แนวคิดใหม่เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน ทำให้พลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนประเภทหนึ่ง กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบพลังงาน (Energy System) และระบบพลังงานก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่กว้างออกไป

เมื่อมีการเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับระบบพลังงาน ว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ใหญ่ขึ้นไปอีก ทำให้เราจะได้ต้นแบบการพัฒนาด้านพลังงาน-เศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อม (Energy-Economy-Environment Model) โดยมีการวางแผนสัดส่วนการใช้พลังงาน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับภาคเศรษฐกิจและสังคม

โรงไฟฟ้าชีวมวล

ตามโมเดลดังกล่าว จะทำให้ได้ตัวชี้วัดเกี่ยวกับการพัฒนาพลังงานใหม่ โดยดูไปที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน ซึ่งหมายถึงการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีด้วย

หากมีการเปลี่ยนวิธีคิดใหม่เกี่ยวกับการพัฒนาพลังงาน ก็จะทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการ และชุมชน มีความเข้าใจในทิศทางเดียวกันและเข้าใจเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้ได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

บทบาทผู้ประกอบการ โรงไฟฟ้าชีวมวล

แม้ว่าโรงไฟฟ้าจะมีข้อดีในหลายด้าน แต่การลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ที่ต้องใช้พื้นที่บริเวณกว้าง และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ก็ส่งผลให้โรงไฟฟ้าแต่ละแห่ง ต้องใช้เงินลงทุนหลายสิบล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ดังนั้นการที่โรงไฟฟ้าจะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนในแต่ละพื้นที่นั้น นอกจากจะมองแค่ผลดีต่อระบบเศรษฐกิจแล้ว โรงไฟฟ้าจากชีวมวลแต่ละแห่ง ควรจะต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมด้วย และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ ทั้งในเรื่องการเลือกใช้เทคโนโลยี และการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวล

การศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุนโครงการผลิตพลังงานชีวมวล นับเป็นขั้นตอนสำคัญในการพิจารณาและตัดสินใจ ในการหาสถานที่ตั้งโรงงานไฟฟ้าชีวมวลที่เหมาะสม ซึ่งต้องพิจารณาถึงแหล่งที่มาของเชื้อเพลิงชีวมวล ปริมาณเชื้อเพลิงชีวมวล ที่จะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงและต้นทุนการผลิต ได้แก่ ต้นทุนการรวบรวม ต้นทุนการแปรรูป และต้นทุนการขนส่ง ภายในรัศมีไม่เกิน 100 กิโลเมตร

ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้น ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของโรงไฟฟ้าได้ เพราะหัวใจสำคัญของโรงไฟฟ้าจากชีวมวล คือ จำเป็นต้องมีปริมาณเชื้อเพลิงชีวมวลเพียงพอ ที่จะป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง

หากโรงไฟฟ้าหยุดเดินเครื่องการผลิต หรือ หยุดปั่นกระแสไฟฟ้าลง นั้นหมายถึง โรงไฟฟ้าจะขาดรายได้จากการขายกระแสไฟฟ้าให้กับภาครัฐ และยังขาดกระแสไฟฟ้าที่จะใช้ภายในโรงงานหรือโรงไฟฟ้าด้วย

โรงไฟฟ้าชีวมวล

ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวล จึงต้อง ศึกษาศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวลในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างกันดังนี้ ภาคตะวันออก ถือเป็นภูมิภาคที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าชีวมวลมากที่สุด มีความต้องการ แกลบและ ชีวมวลอื่น ๆ ประมาณวันละ 3,000 ตัน ซึ่งมากกว่าที่ผลิตได้หลายเท่าตัว จึงต้องทำการจัดหาเชื้อเพลิงชีวมวลจากภาคอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง เช่น ภาคอีสานตอนบน ภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันตก ซึ่งการผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่มากกว่า 90% มาจากโรงงานน้ำตาล

นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น โรงงานปูนซิเมนต์ ฟาร์มเลี้ยงไก่ และโรงเผาอิฐ ร่วมบริโภคเชื้อเพลิงชีวมวลด้วย ทำให้มีโรงไฟฟ้าแกลบในเขตนี้น้อยมาก ภาคเหนือตอนล่าง มีโรงไฟฟ้าแกลบและชานอ้อยเท่า ๆ กัน แต่ใน ภาคเหนือตอนบน มีโรงไฟฟ้าจากชีวมวล น้อยมาก เพราะมีผู้บริโภคน้อยราย และอยู่ห่างจากผู้บริโภครายใหญ่ในเขตภาคกลาง และภาคตะวันออกมาก จึงไม่คุ้มต่อค่าขนส่ง

ภาคใต้ตอนบน เป็นเขตที่มีเชื้อเพลิงชีวมวลเหลือใช้ จากโรงงานปาล์มน้ำมัน และเศษไม้ยางพารา เป็นจำนวนมาก แต่มีโรงไฟฟ้าที่ใช้เศษวัสดุเหลือใช้จากปาล์มน้ำมันน้อยราย เพราะมีผู้ผลิตรายใหญ่ ซื้อเศษไม้ยางพารา มาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์เพื่อส่งออก ทำให้มีการแข่งขันด้านราคากันมากในเขตนี้ โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากเศษไม้ จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะเข้ามาร่วมแข่งขันด้วย

ภาคใต้ตอนล่าง มีโรงไฟฟ้าเศษไม้ยางพาราเพียงแห่งเดียว ตั้งอยู่ที่จังหวัดยะลาถือเป็นตัวแทน โรงไฟฟ้าเศษไม้ยางพาราในภาคใต้ทั้งหมด อย่างไรก็ตามสัดส่วนผู้บริโภคเศษไม้มากสุดไม่ใช่โรงไฟฟ้า แต่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม ที่ใช้ความร้อนในกระบวนการผลิต เช่น โรงงานผลิตถุงมือยาง และโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใน อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

รวมถึง ราคาและค่าขนส่ง ของเชื้อเพลิงชีวมวลที่ส่งมาจากแหล่งต่าง ๆ โดยควรพิจารณาความเสี่ยงด้านราคาต้นทุนของเชื้อเพลิงชีวมวล เนื่องจากเชื้อเพลิงชีวมวล เป็นผลผลิตทางการเกษตรชนิดหนึ่ง ราคาจะเปลี่ยนแปลงตามอุปสงค์-อุปทาน และฤดูกาลผลผลิต ที่ทำให้ขาดความสม่ำเสมอตลอดทั้งปี ทางแก้ไข คือ การสำรองชีวมวลไว้จำนวนหนึ่งในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว เพื่อนำมาใช้ในช่วงนอกฤดูเก็บเกี่ยว หรือ หาเชื้อเพลิงชีวมวลอื่น ๆ เข้ามาเสริมหรือทดแทนเชื้อเพลิงหลัก

ตลอดจน การทำสัญญาระหว่างนักลงทุนกับเจ้าของเชื้อเพลิงชีวมวล เพื่อช่วยในการจัดหาเชื้อเพลิงชีวมวลให้มีปริมาณที่เพียงพอ หรือ การทำเกษตรพันธสัญญา หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความมั่นใจทั้ง 2 ฝ่ายว่า ผู้ลงทุนเองก็จะมีเชื้อเพลิงชีวมวลป้อนโรงไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่เกษตรกรหรือเจ้าของเชื้อเพลิงชีวมวล ก็จะได้รับการรับประกันการรับซื้อวัตถุดิบในราคาที่เหมาะสมและแน่นอน ถือเป็นการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน หรือ เรียกได้ว่าเป็นการสร้างประโยชน์ร่วมกัน

ที่สำคัญต้อง ศึกษาและเลือกใช้เทคโนโลยีผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวลที่เหมาะสม และควรออกแบบให้สอดรับกับคุณสมบัติของเชื้อเพลิงชีวมวลแต่ละประเภทด้วย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในการผลิตกระแสไฟฟ้า และต้องเป็นเทคโนโลยีที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันปัญหาการร้องเรียนทางด้านมลพิษต่าง ๆ เพราะที่สุดแล้วอาจนำไปสู่การถูกสั่งหยุดเดินเครื่องการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือ เพิกถอนใบอนุญาตฯ ได้

โรงไฟฟ้าชีวมวล

ความสำคัญของการมีส่วนร่วมของชุมชน

โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลส่วนใหญ่จะก่อสร้างใกล้กับชุมชน ที่เป็นแหล่งเชื้อเพลิงชีวมวล ดังนั้น การตอบแทนหรือการสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ที่เปรียบเสมือน “ผู้เสียสละ” ที่ยอมให้โรงไฟฟ้าชีวมวลไปจัดตั้งในพื้นที่ ถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับโรงไฟฟ้าในพื้นที่

รูปแบบการดำเนินงานโรงไฟฟ้าจากชีวมวล ที่ให้ชุมชนเข้ามีส่วนร่วมมากที่สุด คือ การให้องค์กรชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน ซึ่งจะทำให้ชุมชนรู้สึกถึงความเป็น “เจ้าของโรงไฟฟ้า” นอกจากจะทำให้ชุมชนร่วมมือกันในการจัดหาเชื้อเพลิงชีวมวล เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการดูแลไม่ให้โรงไฟฟ้าสร้างผลกระทบต่อชุมชนของตัวเอง และสภาพแวดล้อมอีกด้วย

อย่างไรก็ตามการดำเนินการของโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลส่วนมาก จะเป็นการดำเนินงานจากผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นคนภายนอกชุมชน ซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) มีการออกระเบียบในการดูแลชุมชน นอกจากเรื่องการควบคุมในเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นแล้ว ยังมีกลไกในการจัดตั้ง กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ให้กับชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า เพื่อสร้างสรรค์มิติใหม่ของการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงไฟฟ้ากับชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า โดยนำเงินที่ได้รับจัดสรรจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และสิ่งแวดล้อมในชุมชนพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า

ทั้งนี้ชุมชนสามารถนำเงินจาก กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ไปใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การพัฒนาอาชีพ การสนับสนุนการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี กีฬา และดนตรี รวมถึงการสนับสนุนการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของคนในชุมชน

การมีส่วนร่วมของชุมชนสามารถมีได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ แต่จากตัวอย่างของโรงไฟฟ้าจากชีวมวลที่ประสบความสำเร็จ แสดงให้เห็นว่าการยอมรับจากชุมชน และเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม จะทำให้ลดปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ลงได้ และโรงไฟฟ้าจะมีความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงชีวมวลจากชุมชนนั่นเอง

ดังนั้นหากดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงชีวมวลได้อย่างครบถ้วน และตัดสินใจเดินหน้าโครงการแล้ว ผู้ลงทุนโรงไฟฟ้าต้องยึดมั่นการดำเนินโครงการ ด้วยความจริงใจและรักษาผลประโยชน์ของชุมชน รวมถึงดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ไม่น้อยไปกว่าผลประโยชน์จากรายได้ในการขายไฟฟ้า ก็นับว่าเป็นการดำเนินโรงไฟฟ้าที่สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับทุกฝ่าย นับเป็นการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไปพร้อม ๆ กัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight