Environmental Sustainability

การมีส่วนร่วมของชุมชนในการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวล

“ไฟฟ้า” เป็นระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานสำคัญของการดำรงชีวิตของมนุษย์ และนับวันไฟฟ้าจะมีความสำคัญมากขึ้น เพราะทุกกิจกรรมบนโลกนี้ล้วนต้องขับเคลื่อนด้วยกระแสไฟฟ้า ดังนั้น การก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นเรื่องจำเป็น

การก่อสร้างโรงไฟฟ้าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้า มักได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากโรงไฟฟ้ามาโดยตลอด ไม่ว่าโรงไฟฟ้านั้นจะใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือ เชื้อเพลิงชีวมวล ที่ถือเป็นพลังงานทดแทนที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยก็ตาม แต่ก็มักก่อให้เกิดมลภาวะโดยเฉพาะฝุ่น ประชาชนจึงมักต่อต้านเสมอเมื่อทราบว่าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าขึ้น ในพื้นที่ที่ใกล้กับที่อยู่อาศัยของตน เพราะขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน

การมีส่วนร่วมของชุมชน

การก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ต่างจากโรงไฟฟ้าประเภทอื่น เนื่องจากมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย และเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากโดยเฉพาะเกษตรกรและชุมชน ที่อาจเป็นผู้ขายวัตถุดิบเชื้อเพลิงชีวมวลให้กับโรงไฟฟ้า

นอกจากนี้พื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าส่วนมากมักจะอยู่บริเวณใกล้กับชุมชน ซึ่งผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าต้องจริงใจ และให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการด้านเชื้อเพลิงและสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้น ๆ โดยอาจมีปริมาณวัตถุดิบไม่สม่ำเสมอตลอดปี เนื่องจากมีผลผลิตเป็นฤดูกาล จำเป็นต้องมีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม เช่น การสร้างโกดังหรือระบบเก็บวัตถุดิบที่มีคุณภาพ รวมไปถึงการเลือกเทคโนโลยี ที่สามารถใช้เชื้อเพลิงได้มากกว่า 1 ชนิด ที่ให้ผลผลิตในช่วงต่างกันเพื่อให้สามารถบริหารจัดการ เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าได้ตลอดทั้งปี

จากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ผ่านมาในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ชี้ให้เห็นว่าการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าจะประสบความสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อได้รับการสนับสนุนจากชุมชนในพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้า รวมถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน ในขณะเดียวกันชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ก็จะได้รับการดูแลในฐานะ “ผู้เสียสละ” จาก กองทุนพัฒนาไฟฟ้า และยังได้รับประโยชน์จากการขายเชื้อเพลิงชีวมวลให้กับโรงไฟฟ้าอีกด้วย

การมีส่วนร่วมของชุมชน

ดังนั้นโรงไฟฟ้าชีวมวล จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับ 4 ส่วนที่สำคัญ คือ ผู้ประกอบการ ชุมชน สิ่งแวดล้อม และผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งความสำเร็จหรือล้มเหลวของโรงไฟฟ้าชีวมวลจะขึ้นกับองค์ประกอบทั้ง 4 ส่วนเป็นสำคัญ

กรมพัฒนาพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำคู่มือพัฒนาและการลงทุนผลิตพลังงานทดแทน ชุดที่ 4 สำหรับ “พลังงานชีวมวล” เพื่อแนะนำแนวทางที่เหมาะสม “การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” เริ่มตั้งแต่ ก่อนดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ผู้ที่สนใจจะลงทุนผลิตกระแสไฟฟ้า ควรประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าที่ผู้ลงทุนเลือกใช้ และเทคโนโลยีการกำจัดมลภาวะเพื่อป้องกันปัญหาฝุ่น

เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งระหว่างโรงไฟฟ้าและชุมชนที่สําคัญคือให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างโรงไฟฟ้าด้วย โดยก่อนการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ผู้ลงทุนควรประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ที่ผู้ลงทุนเลือกใช้และเทคโนโลยีการกําจัดมลภาวะเพื่อป้องกันปัญหาฝุ่น

รวมถึงการเชิญตัวแทนชาวบ้าน ผู้นําชุมชน และผู้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เดินทางศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าแบบเดียวกับที่ผู้ลงทุนจะดำเนินการก่อสร้าง เพื่อให้เห็นตัวอย่างของโรงไฟฟ้าที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะด้านฝุ่นต่อชุมชน ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนมีความเข้าใจ และมั่นใจว่าจะไม่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากโรงไฟฟ้าที่จะสร้างขึ้น

นอกจากนี้ผู้ลงทุนควรให้ความสำคัญกับชุมชน โดยการเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสอบถามข้อข้องใจต่าง ๆ ระหว่างผู้ลงทุนและชุมชน

การมีส่วนร่วมของชุมชน

แนวทางที่เหมาะสมในขั้นตอนการลงพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจกับชุมชนเบื้องต้น สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน มีดังนี้

1. การจัดเวทีประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ และให้ประชาชนแสดงความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้า

2. การจัดให้มีการศึกษาและดูงานจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ชีวมวลชนิดต่าง ๆ เป็นเชื้อเพลิงซึ่งมีเทคโนโลยีที่ สามารถป้องกันปัญหามลภาวะด้านฝุ่นต่อชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มความมั่นใจ ให้กับประชาชนว่าผู้ลงทุนจะรักษาสภาพแวดล้อมต่างๆ ให้ดีดังตัวอย่างที่ประชาชนได้พบเห็น ผลที่ได้รับจากการศึกษาดูงานจะทําให้ผู้ลงทุนทราบว่า ประชาชนในพื้นที่เห็นชอบกับการสร้าง โรงไฟฟ้าของผู้ลงทุนหรือไม่ และผู้ลงทุนควรให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีป้องกันผลกระทบ ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้ชุมชนยอมรับและไม่มีกระแสต่อต้าน ก่อนที่จะเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้า

3. ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ผู้ลงทุนควรให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ แก่ชุมชน เพื่อเป็นการ เชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าผู้ลงทุนและประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งของโรงไฟฟ้า การให้ความช่วยเหลือแก่โรงเรียนที่อยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้า เช่น สร้างสนามเด็กเล่น หรือ ให้เครื่องมืออุปกรณ์ที่จําเป็นแก่การเรียนการสอน หรืออาจมีส่วนร่วมในงานบุญโอกาสต่าง ๆ เช่น ทอดกฐิน เป็นต้น รวมถึงการช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ เมื่อมีการร้องขอมาจากหน่วยงานของ ภาครัฐ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

4. การจัดให้มีตัวแทนจากโรงไฟฟ้าเข้าร่วมประชุมตามวาระการประชุมของ อบต. เป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างชาวบ้าน ผู้นําชุมชน และตัวแทนของโรงไฟฟ้า และเพื่อให้ทางโรงไฟฟ้าได้ข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ในการสร้างโรงไฟฟ้าให้เป็นมิตร กับชุมชนอย่างแท้จริง

5. การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนรอบโรงไฟฟ้าในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอข้อคิดเห็น รับฟังปัญหา การเข้ามามีส่วนร่วมจัดการด้านวัตถุดิบ ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และร่วมกิจกรรมพัฒนาชุมชน ตลอดจนการเข้ามาเป็นหุ้นส่วนใน เพื่อแสดงถึงการเข้ามามีส่วนร่วม และการแสดงความเป็นเจ้าของ

การมีส่วนร่วมของชุมชน

จากงานวิจัยของ นายโชติ ชูสุวรรณ เรื่อง “โรงไฟฟ้ากับการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน ศึกษากรณี พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร” ที่เสนอต่อวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ประจำปีการศึกษา พ.ศ. 2560-2561 โดยเสนอแนวทางในการตอบแทนชุมชนที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้า

ผลการวิจัยพบว่าการสร้างโรงไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรม ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึง และหาวิธีทำให้เกิดผลกระทบกับชุมชนให้น้อยที่สุด ซึ่งการตอบแทนชุมชนเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าพึงกระทำเพื่อทดแทนในสิ่งที่หายไป

การบูรณาการร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการกับชุมชน เพื่อตอบแทนชุมชนมีหลายรูปแบบ ขึ้นกับการตัดสินใจระหว่างชุมชนและผู้ประกอบการ ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานในพื้นที่โรงไฟฟ้าดำเนินไปได้ และทำให้ชุมชุมเข้มแข็ง เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
งานวิจัยดังกล่าวเสนอแนะสำหรับผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าในการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน และตอบแทนชุมชน ดังนี้

1. โรงไฟฟ้าควรพิจารณารับคนในพื้นที่ ที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ที่เหมาะสม เข้าทำงานเป็นอันดับแรก

2. โรงไฟฟ้าควรมีการจัดทำแผนมวลชนสัมพันธ์ประจำปี โดยมีกรอบแผนงานหลัก 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการศึกษา ด้านชีวิตความเป็นอยู่ ด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชน ด้านวัฒนธรรม ประเพณี และด้านศาสนา โดยดำเนินการตามแผน พร้อมกับสรุปผลการดำเนินงานทุกครั้ง เพื่อใช้ทบทวนการทำแผนมวลชนสัมพันธ์ในครั้งถัดไป ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

3. โรงไฟฟ้าควรจัดให้มีกิจกรรมด้านมวลชนสัมพันธ์ เป็นการดำเนินการเพื่อเผยแพร่ ข้อมูลเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าไปยังสื่อมวลชนท้องถิ่น โดยการนำเสนอข้อมูลและความคืบหน้าของโรงไฟฟ้า เป็นระยะ ๆ รวมทั้งข้อมูลด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้า เพื่อสร้างความมั่นใจในการดำเนินการของโรงไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น

4. โรงไฟฟ้าต้องประชาสัมพันธ์การดำเนินงานให้ชุมชนโดยรอบได้รับทราบ โดยเฉพาะขั้นตอนการรับเรื่องร้องเรียนของโครงการ รวมทั้งการกำหนดบุคคลที่รับผิดชอบในการตรวจสอบ และติดตามการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนอย่างชัดเจน ภายใน 15 วัน และบันทึกข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้นจาก โครงการ และการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยสรุปเสนอผู้บริหารทุกปี

5. ประชาชนในชุมชนที่เกี่ยวข้อง ควรจะได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินการของโรงไฟฟ้าเมื่อมีการร้องขอเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ผู้เข้าเยี่ยมชมจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ ซึ่งบังคับใช้ในโรงไฟฟ้า

6. โรงไฟฟ้าควรมีการส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับ กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ อาทิ การส่งเสริมอาชีพและเศรษฐกิจในชุมชน การเข้าร่วมกิจกรรมชุมชนที่ เกี่ยวกับพิธีกรรมภายในท้องถิ่น รวมทั้งงานกุศลต่าง ๆ การส่งเสริมด้านการแพทย์และสาธารณสุข การส่งเสริมกิจกรรมการศึกษาและการกีฬา และงานสาธารณประโยชน์อื่น ๆ เป็นต้น

7. โรงไฟฟ้ามีนโยบายในการแต่งตั้งคณะกรรมการไตรภาคี ได้แก่ ตัวแทนภาคประชาชน ตัวแทนภาครัฐหรือหน่วยงานท้องถิ่น และตัวแทนผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า เพื่อทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า เพื่อการบูรณการร่วมกัน

ทั้งนี้การจะพัฒนาโรงไฟฟ้าให้เกิดความยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ด้วย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาชุมชน คือ การที่คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขตามสมควรแก่อัตภาพของตนเอง สามารถปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น และอยู่ร่วมกันกับ คน ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น ๆ ในชุมชนของตนเอง ได้อย่างมีความเอื้ออาทรต่อกันจนเกิดความเป็นชุมชนขึ้น เมื่อคนมีความสุขแล้ว ย่อมส่งผลให้ชุมชนของตนเกิดความเข็มแข็งยั่งยืนในที่สุด

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight