The Bangkok Insight

ฉีดวัคซีนทั่วไทย รายวันลดฮวบไม่ถึง 1 แสนโดส สะสม 14.29 ล้าน ‘สธ.’ กางไทม์ไลน์จัดหา ‘แอสตร้าเซนเนก้า’

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. และ กระทรวงสาธารณสุข รายงานความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย นับถึงเวลา 18.00 น. เมื่อวานนี้ (18 ก.ค.)

จำนวนการได้รับวัคซีนสะสมระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์-18 กรกฎาคม 2564

  • รวม 14,298,596 โดส ใน 77 จังหวัด
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 10,850,099 ราย
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 3,448,497 ราย

ยอดฉีดวัคซีนทั่วประเทศ วันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ที่ 74,834  โดส

  • เข็มที่ 1 : 69,667 ราย
  • เข็มที่ 2 : 5,167 ราย

วัคซีนCOVID 19 27 1

ก่อนหน้านี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์กรณีการทำสัญญา ซื้อวัคซีนโควิด กับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า โดย นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ องค์ความรู้และการจัดการเป็นเรื่องใหม่ ขณะที่ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตอนนี้สายพันธุ์เดลตาระบาดไปทั่วโลก มีการแพร่กระจายเชื้อมากขึ้น การก่อโรคเกิดความรุนแรงมากขึ้น ทำให้สถานการณ์การระบาดทั่วโลกและประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ดังนั้น การอ้างอิงข้อมูลเวลาใดเวลาหนึ่งมาพูดในปัจจุบัน อาจไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากวันนี้พูดอาจจะถูกต้อง แต่อนาคตอาจจะผิด เรื่องของวัคซีนโควิด-19 ก็เช่นกัน มีการผลิตออกมาในเวลาไม่ถึงปี เป็นการผลิตเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน จากปกติที่ใช้เวลานานหลายปี วัคซีนบางชนิด 50 ปียังทำไม่สำเร็จ เช่น วัคซีนไข้เลือดออก วัคซีนเอชไอวี ซึ่งวัคซีนโควิด-19 ทุกตัวขณะนี้ถือว่ามีประสิทธิภาพ และปลอดภัยเป็นที่ยอมรับได้ในภาพรวม

ไทม์ไลน์โรคโควิด-19 และการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

เริ่มจากช่วงเดือนมกราคม 2563 ประเทศไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 รายแรก

  • 25 มีนาคม 2563 | ประเทศไทยออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและมีผลบังคับใช้ 26 มีนาคม 2563 หลังพบการระบาดมากขึ้น
  • 22 เมษายน 2563 | คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเห็นชอบแผนการเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 ของประชากรไทย
  • 24 สิงหาคม 2563 | กระทรวงสาธารณสุขลงนามสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้ามาให้ผู้ผลิตในไทย ทำให้มีแหล่งผลิตในประเทศไทย
  • 23 กันยายน 2563 | คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนฯ เห็นชอบแผนจัดหาวัคซีนเบื้องต้น
  • 9 ตุลาคม 2563 | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามเอกสาร
  • 12 ตุลาคม 2563 | ออกประกาศจัดหาวัคซีนในกรณีเหตุฉุกเฉิน โดยให้กรมควบคุมโรค สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จัดหาโดยการจองล่วงหน้า ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีวัคซีนที่ผ่านการวิจัย ซึ่งอาจผลิตสำเร็จหรือไม่ก็ได้

astt

  • 17 พฤศจิกายน 2563 | ครม.เห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้ากับแอสตร้าเซนเนก้า 26 ล้านโดส
  • 27 พฤศจิกายน 2563 | ลงนามในสัญญา 3 ฝ่าย โดยแอสตร้าเซนเนก้าประเทศไทย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค เพื่อจองซื้อวัคซีน
  • 5 มกราคม 2564 | ครม.รับทราบมติที่ ศบค. ให้สั่งซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส
  • 20 มกราคม 2564 | สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้ใช้ได้ในภาวะฉุกเฉิน
  • 23 กุมภาพันธ์ 2564 | ครม.เห็นชอบแก้ไขสัญญาจองซื้อวัคซีนจาก 26 ล้านโดส เพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส
  • 2 มีนาคม 2564 | ครม.รับทราบ และอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณเพิ่มสำหรับ 35 ล้านโดส
  • 25 มีนาคม 2564 | กรมควบคุมโรคส่งสัญญาที่ลงนามแก้ไขให้บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าประเทศไทย
  • 4 พฤษภาคม 2564 | ได้รับสัญญาตอบกลับจากแอสตร้าเซนเนก้าประเทศไทยและประเทศอังกฤษ หรือใช้เวลา 2 เดือนจึงได้รับการตอบกลับ
  • 1 มิถุนายน 2564 | ครม.เห็นชอบกรอบการดำเนินงาน 61 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนมิถุนายน  – ธันวาคม 2564

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo