Stock

‘ดาวโจนส์’ แรงไม่หยุด พุ่งกว่า 800 จุด ทะลุแนว 30,000 จุด ‘แนสแด็ก’ ทะยานกว่า 3%

ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ของสหรัฐ ซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ (4 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยที่ “ดาวโจนส์” พุ่งแรงทะลุ 800 จุด ข้ามเส้น 30,000 จุด หลังหุ้นปรับตัวขึ้นทุกกลุ่ม ขณะที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวล่าสุดที่ 30,302.64 จุด พุ่งขึ้น 811.75 จุด หรือ 2.75% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ที่ 3,787.73 จุด ทะยานขึ้นมา 109.30 จุด หรือ 2.97% และดัชนีแนสแด็ก ที่ 11,165.23 จุด พุ่งขึ้น 349.79 จุด หรือ 3.23%

ดาวโจนส์

การซื้อขายได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ หลังจากที่นักลงทุนกังวลก่อนหน้านี้ว่า การแข็งค่าของดอลลาร์จะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากต่างประเทศ

นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ถือเป็นพันธบัตรรัฐบาลที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ

หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินกู้จำนองเพิ่มมากขึ้น และบริษัทต่าง ๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ทำให้บริษัทลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน

ขณะเดียวกัน นักลงทุนลดคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนหน้า หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 58.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.75-4.00% ในการประชุมวันที่ 1-2 พฤศจิกายน หลังก่อนหน้านี้ให้น้ำหนักสูงถึง 68.1%

นอกจากนี้ นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักสู่ระดับ 41.5% ต่อการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมดังกล่าว

นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี

สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ไอเอสเอ็ม) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 50.9 ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563  และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 52.3 จากระดับ 52.8 ในเดือนสิงหาคม

ดัชนีภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากการหดตัวของคำสั่งซื้อใหม่ ซึ่งเป็นการหดตัวลงเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ ขณะที่การจ้างงานหดตัวเป็นครั้งที่ 4

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo