Stock

เปิดกำไร หุ้น ‘มาม่า’ 6 เดือนแรกปี 2565 ก่อนขอขึ้นราคาเป็นซองละ 8 บาท

ธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อ ที่ราคาวัตถุดิบต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ไล่มาตั้งแต่ แป้งสาลี น้ำมันพืช แพคเกจจิ้ง ต้นทุนค่าขนส่งจากราคาน้ำมัน รวมไปถึงต้นทุนค่าแรงที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ดี บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นสินค้าควบคุมในประเทศไทย จึงไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าเองได้ ต้องได้รับอนุญาต จากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ทำให้เป็นเวลากว่า 14 ปีแล้ว ที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่ได้ปรับขึ้นราคา โดยตรึงราคาเริ่มต้นไว้ที่ซองละ 6 บาท มาตั้งแต่ปี 2551

shutterstock 1389588800

ทำให้ล่าสุดผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 บริษัทในไทย ประกอบด้วย

1. บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิต “มาม่า”

2.  บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ผู้ผลิต “ไวไว”

3. บริษัท วันไทย อุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิต “ยำยำ”

4. บริษัท นิชชิน ฟูดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิต “นิชชิน”

5. บริษัท โชคชัยพิบูล จำกัด ผู้ผลิต “ซื่อสัตย์” ได้ร่วมกันยื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมการค้าภายใน ขอปรับขึ้นราคาสินค้า 2 บาท เป็นซองละ 8 บาท เพื่อให้สอดรับกับกลไกตลาด และต้นทุนที่พุ่งขึ้นสูงมาก

62fb4e5f99fa3
ภาพ: https://www.commercenewsagency.com/news/5285

ด้าน นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ได้รับทราบและติดตามสถานการณ์ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ยอมรับว่าต้นทุนบางรายการมีการปรับเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ตรึงราคาเพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีการอนุญาตให้ปรับราคาแต่อย่างใด โดยจะพิจารณาเป็นรายๆ บนหลักการ วิน-วินโมเดล คือผู้ประกอบการอยู่ต่อได้ ส่วนผู้บริโภคได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

หุ้นมาม่า กำไรหายไปเท่าไหร่?

หากจะพูดถึงผู้เล่นเบอร์ 1 ในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก็ต้องเป็นมาม่า ของ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ หุ้น TFMAMA ซึ่งเป็นผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายเดียว ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทย่อยของเครือสหพัฒน์

ผลการดำเนินงานล่าสุดในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม – มิถุนายน) TFMAMA มีรายได้จากการขาย 12,694 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.84% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่กำไรสุทธิอยู่ที่ 1,164 ล้านบาท ลดลง  32.39% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นกำไรที่หายไปกว่า 557 ล้านบาท

ชัดเจนว่าสาเหตุหลักมาจาก ราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวขึ้น รวมถึงการมีค่าใช้จ่ายในการส่งออกไปขายต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากการที่บริษัทมุ่งเน้นสร้างการเติบโตของยอดขายต่างประเทศ เพราะได้ราคาดีกว่า และไม่มีการควบคุมราคาเหมือนขายในไทย

สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น TFMAMA ตั้งแต่ต้นปี (Year to Date ณ วันที่ 18 ส.ค. 65) ปรับตัวลดลง 2.84% มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) เท่ากับ 67,589 ล้านบาท และซื้อขายที่ P/E ระดับ 22.41 เท่า

ทั้งนี้ ธุรกิจของ TFMAMA ไม่ได้มีเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จเท่านั้น ความจริงแล้วบริษัทมีผลิตภัณฑ์อาหารที่หลากหลาย อาทิ ผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ แบรนด์ Green Mate และ Kelly ขนมปังกรอบแบรนด์ Homey รวมถึงยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ PB หรือ บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมปัง “ฟาร์มเฮ้าส์” อีกด้วย

จะเห็นว่าในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ สินค้าจำพวกของกินอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมปัง เบเกอรี แม้จะไม่ได้รับผลกระทบในแง่ยอดขายก็จริง เพราะไม่ว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร คนก็จำเป็นต้องรับประทาน ทว่าสิ่งที่เป็นปัญหาคือผลกำไรในบรรทัดสุดท้าย (bottom line) เนื่องจากเมื่อสินค้าจำเป็น ทำให้ถูกควบคุมราคาโดยภาครัฐ  เมื่อภาวะที่ต้นทุนสูงขึ้น การดำเนินธุรกิจจึงกระทบไปเต็มๆ  ก็ต้องติดตามกันว่าทางออกของเรื่องนี้จะสรุปออกมาเป็นอย่างไร

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน