Business

อั้นไม่ไหว!! ผู้ผลิตบะหมี่ฯ 5 แบรนด์ดัง จี้พาณิชย์ ขอปรับราคาจาก 6 บาทเป็น 8 บาท

ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 แบรนด์ดัง รวมตัวยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงกรมการค้าภายใน ขอปรับราคาขึ้นจาก 6 บาท เป็น 8 บาทภายในสัปดาห์นี้ 

จากต้นทุนการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 ราย ร่วมกันลงนามในจดหมายเปิดผนึก เพื่อยื่นต่ออธิบดี กรมการค้าภายใน (คน.) วันที่ 16 สิงหาคมนี้ เวลา 09.30 น. โดยเป็นการเร่งรัดให้ คน. พิจารณาปรับขึ้นราคาสินค้าจาก 6 บาทเป็น 8 บาท ภายในสัปดาห์นี้

ปรับราคา

สำหรับผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 รายได้แก่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตรา มาม่า, บริษัท โชคชัยพิบูล จำกัด ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จตรา ซื่อสัตย์ และจายา, บริษัท โรงงานผลิตอาหารไทย จำกัด ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา ไวไว, บริษัท วันไทย อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา ยำยำ และบริษัท นิชชิน ฟูดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตรา นิชชิน

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ต้นทุนการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปรับสูงขึ้นตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าโดยรวมสูงขึ้นจนทำให้บริษัทไม่มีกำไร และบางบริษัทไม่สามารถเดินหน้าผลิตได้

ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการได้ยื่นขอปรับราคาสินค้าต่อกรมการค้าภายในแล้ว 2-3 ครั้ง แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา อีกทั้งขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการให้ตรึงราคาขายต่อไป

 

ต้นทุนของแป้งสาลี ปรับขึ้นเฉลี่ย 25-30% ส่วนน้ำมันปาล์มก็เพิ่มขึ้น 100% ยังไม่นับรวมบรรจุภัณฑ์ที่ปรับขึ้นเช่นกัน ผู้ประกอบการทุกแบรนด์จึงต้องจับมือกัน เพราะเผชิญปัญหาเดียวกัน และไม่สามารถเดินหน้าต่อได้”

มาม่า

ในส่วนของมาม่า ก่อนหน้านี้ได้ยื่นขอปรับราคาจาก 6 บาทเป็น 7 บาท ก็ไม่ได้รับการพิจารณา ต่อมาผลิตสินค้าใหม่ออกวางตลาดยื่นขอจำหน่ายในราคา 8 บาท ก็ไม่ได้รับการพิจารณา ในครั้งนี้จึงขอยื่นปรับราคาจาก 6 บาทเป็น 8 บาท

ทั้งนี้ ทุกแบรนด์พยายามแก้ปัญหาด้วยการหันไปทำตลาดต่างประเทศ เพราะต่างประเทศสามารถปรับราคาได้ แต่ก็ไม่อยากให้กระทบตลาดในประเทศ ที่อาจประสบปัญหาสินค้าขาดตลาดได้

สำหรับการยื่นหนังสือเปิดผนึกครั้งนี้ เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงและผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมทั้งเร่งรัดให้ภาครัฐ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการปรับราคา

ด้านนายวีระ นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานผลิตอาหารไทย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า จากต้นทุนที่สูงมาก ส่งผลให้ผลประกอบการบางเดือนติดลบ หากปรับค่าแรงขึ้นอีกก็จะได้รับผลกระทบอีกต่อหนึ่ง จึงต้องขอขึ้นราคา เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้

ถ้าไม่อนุมัติเราก็ต้องลดการขายในประเทศ และหันไปส่งออกมากขึ้น เพราะยิ่งขาดเยอะ เรายิ่งเจ็บตัว

นายกิติพศ ชาญภาวรกิจ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท วันไทย อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด กล่าวว่า ยำยำ ได้รับผลกระทบตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 ที่ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น เช่น ต้นทุนแป้งสาลีปรับขึ้นเกือบ 50% น้ำมันปาล์มปรับขึ้นเท่าตัว แต่ปรับราคาไม่ได้

shutterstock 1461522944

ดังนั้น บริษัทจึงเน้นผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก เพราะตลาดต่างประเทศปรับขึ้นได้ โดยที่ผ่านมาปรับราคาในต่างประเทศแล้ว 2 รอบ เฉลี่ยกว่า 10%

ขณะที่ นายฮิจิริ ฟูกุโอกะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิชชิน ฟูดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันนิชชินมีทำตลาดทั้งในญี่ปุ่น จีน อเมริกา อินเดีย บราซิล เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ซึ่งหลายประเทศปรับราคาสินค้าขึ้นไปแล้ว เพื่อให้สอดรับกับต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น โดยล่าสุดญี่ปุ่นได้ปรับราคาขึ้น 12%

การปรับราคาขึ้น จะทำให้ผู้ผลิตสามารถเดินหน้าผลิตสินค้าออกวางจำหน่ายได้ รวมทั้งยังมีกำลังมากพอในการพัฒนาและวิจัยสินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาด”

นายปริญญา สิทธิดำรง กรรมการ บริษัท โชคชัยพิบูล จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาคน. กำหนดเพดานราคาบะหมี่ฯไว้ที่ 6 บาท แต่เมื่อมีโปรโมชั่น ก็จะขาย 5-5.50 บาท แต่วันนี้ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้จำเป็นต้องปรับราคา เพราะไม่สามารถแบกรับต่อไปได้อีก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo