Stock

‘ดาวโจนส์’ ร่วงต่ออีกกว่า 200 จุด จับตาประชุมเฟด หวั่นเศรษฐกิจถดถอย

ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ของสหรัฐ ซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ (14 มิ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยที่ “ดาวโจนส์” ยังร่วงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวล “เฟด” จะเร่งขึ้นดอกเบี้ย ที่อาจฉุดให้เศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะถดถอยได้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวล่าสุดที่ 30,311.79 จุด ดิ่งลง 204.95 จุด หรือ 0.67%ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ที่ 3,735.58 จุด ร่วงลง 14.05 จุด หรือ 0.37% และดัชนีแนสแด็กที่ 10,826.74 จุด ขยับขึ้น 17.52 จุด หรือ 0.16%

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มการประชุมนโยบายการเงินเป็นเวลา 2 วันในวันนี้ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 4 ของปี 2565 ท่ามกลางปัจจัยท้าทายจากเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในสหรัฐ

ดาวโจนส์

FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมรอบนี้ ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2537 เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ

นักลงทุนยังคาดว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจนเข้าใกล้ระดับ 4% ในปี 2566 จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.75-1.00%

เฟดได้เริ่มต้นวงจรการขึ้นดอกเบี้ย ด้วยการปรับขึ้น 0.25% ในเดือนมีนาคม ตามด้วย 0.50% ในเดือนพฤาภาคม ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ทั้งในเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐยังคงพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 8.6% ในเดือนที่แล้ว  เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2524 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.3%

การซื้อขายในตลาดถูกกดดันในวันนี้ เนื่องจากตลาดพันธบัตรสหรัฐยังคงเกิดภาวะ inverted yield curve ต่อเนื่องจากวานนี้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวเหนือพันธบัตรระยะยาว ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ที่ผ่านมา ภาวะ inverted yield curve มักเกิดขึ้นจากการที่นักลงทุนพากันเทขายพันธบัตรระยะสั้น และเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาว ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยนักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ก่อนหน้านี้ เหตุการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 5 ปีพุ่งขึ้นสูงกว่าพันธบัตรอายุ 30 ปีได้เกิดขึ้นในปี 2549 ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการเงินทั่วโลกในเวลาเพียงไม่กี่ปีถัดมา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo