Stock

เปิดอาณาจักร ‘MBK’ ขุมทรัพย์ธุรกิจ 3 หมื่นล้าน

เปิดอาณาจักร “MBK” ขุมทรัพย์ธุรกิจ 3 หมื่นล้าน ทำธุรกิจอะไรบ้าง

เชื่อเลยว่าในช่วงสัปดาห์นี้ ชื่อของหุ้น MBK หรือ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) น่าจะอยู่ในความสนใจของนักลงทุนเป็นจำนวนมาก หลังจากมีกระแสข่าวว่า “สยามพิวรรธน์” กำลังพิจารณาที่จะทำ IPO เข้าตลาดหุ้น ซึ่งเป็นบริษัทที่ MBK เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สัดส่วน 49%

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 ราคาหุ้น MBK พุ่งขึ้นแรง 15.92% ภายในวันเดียว ก่อนที่ในวันที่ 22 มีนาคม 2567 ราคาหุ้นจะย่อตัวลงมา 2.20% แต่ก็เป็น 2 วัน ที่หุ้นมีมูลค่าการซื้อขายที่หนาแน่นเป็นพิเศษรวมกันกว่า 1,300 ล้านบาท ซึ่งปกติ MBK เป็นหุ้นที่ปริมาณการซื้อขายไม่มากนักในแต่ละวัน

ขุมทรัพย์

MBK ทำธุรกิจอะไรบ้าง

จุดเริ่มต้นของ MBK หรือในชื่อเดิมที่คุ้นหู “มาบุญครอง” เริ่มต้นในปี 2517 กิจการแรกของบริษัท คือ โรงสีข้าวและจำหน่ายข้าวสาร ซึ่งมีแบรนด์ที่คนไทยรู้จักอย่างข้าวตรามาบุญครอง แต่จุดเปลี่ยนจริงๆ ของบริษัทเกิดขึ้นเมื่อปี 2526 หลังจากการเข้าไปเช่าที่ดินกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริเวณสี่แยกปทุมวัน และก่อสร้างเป็น “ศูนย์การค้ามาบุญครอง เซ็นเตอร์” เปิดบริการปี 2528 ในเวลานั้นมีจุดเด่นในการเป็นห้างสินค้าแบรนด์เนม

ตลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษ ห้างมาบุญครอง มีการปรับเปลี่ยนผลัดใบมาหลายยุคหลายสมัย จากศูนย์รวมสินค้าแบรนด์เนมขนาดใหญ่ สู่การซอยพื้นที่เป็นตลาดนัดติดแอร์ เข้าสู่ช่วงพีคของร้านตู้มือถือ ปรับกลยุทธ์เน้นดึงดูดชาวต่างชาติ กระทั่งปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น MBK Center

ขุมทรัพย์ MBK

อย่างไรก็ดี หากมองในภาพรวม MBK ยังมีกิจการอีกมากมาย โดยมีลักษณะเป็น Holding Company ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) กว่า 34,606 ล้านบาท ด้วยการถือหุ้นในธุรกิจอื่น ๆ อีกหลายประเภท แบ่งเป็น 8 กลุ่มหลัก ดังนี้

ขุมทรัพย์
ภาพ:https://www.mbkgroup.co.th/th/home#banner

1. ธุรกิจศูนย์การค้า สัดส่วนรายได้ประมาณ 26%
เช่น MBK Center, Paradise Park, The Nine Center

2.  ธุรกิจการเงิน สัดส่วนรายได้ประมาณ 24%
เช่น สินเชื่อรถจักรยานยนต์ (T Leasing), สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (MBKG)

3.  ธุรกิจอาหาร สัดส่วนรายได้ประมาณ 17%
เช่น ข้าวมาบุญครอง, ฟู้ด เลเจ้นด์ส บาย เอ็มบีเค

4. ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว สัดส่วนรายได้ประมาณ 14%
เช่น ลยานะ รีสอร์ท แอนด์ สปา, โรงแรมดุสิตธานี, โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส

5.  ธุรกิจการประมูล สัดส่วนรายได้ประมาณ 8%
เช่น ศูนย์ประมูลรถยนต์ “Apple Auto Auction”

6.  ธุรกิจกอล์ฟ สัดส่วนรายได้ประมาณ 6%
เช่น สนามกอล์ฟ ริเวอร์เดล กอล์ฟ คอร์ส, สนามกอล์ฟ บางกอก กอล์ฟ คลับ, สนามกอล์ฟ ล็อค ปาล์ม กอล์ฟ คอร์ส

7.  ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สัดส่วนรายได้ประมาณ 4%
เช่น โครงการ Quinn, Park Riverdale, The Riverdale Residence

8.  ศูนย์สนับสนุนองค์กร สัดส่วนรายได้ประมาณ 1%

ขุมทรัพย์ MBKกับ รายได้-กำไร ดีแค่ไหน

สรุปผลประกอบการของ MBK ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า MBK ได้รับผลกระทบพอสมควรในช่วงโควิด แต่ในช่วงปี 2565 ถือว่ากลับมามีกำไร และค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างชัดเจน

ขุมทรัพย์
ปี 2564 บริษัทมีรายได้ 8,195.61 ล้านบาท  ขาดทุนสุทธิ  804.48 ล้านบาท ส่วนปี 2565 บริษัทมีรายได้ 9,031.33 ล้านบาท  กำไรสุทธิ 331.85 ล้านบาท ขณะที่ปี 2566 บริษัทมีรายได้ 10,551.94 ล้านบาท  กำไรสุทธิ 1,567.12 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ ผู้บริหาร MBK สัมภาษณ์ว่าองค์กรได้รับบทเรียนจากวิกฤตโควิดอย่างมาก โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจที่อยู่บนความไม่แน่นอน และไม่สามารถคาดการณ์เป้าหมายระยะยาวได้ จึงต้องปรับตัว และดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง ที่สำคัญต้องรักษาสภาพคล่องทางการเงิน แม้จะเริ่มเห็นสัญญาณบวกของธุรกิจที่กลับมาฟื้นตัว แต่หลังจากนี้การขยายการลงทุนใหม่ๆ จะต้องเป็นไปอย่างช้าๆ เพราะธุรกิจยังอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอน

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน