Stock

ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ‘หุ้นกู้’ ผลตอบแทนดี แต่ต้องระวัง!!

ที่ผ่านมานักลงทุนอาจเคยได้ยินว่า “หุ้นกู้” เป็นการลงทุนที่ปลอดภัย มีโอกาสได้เงินต้นคืน 100% แต่!! ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง การลงทุนในหุ้นกู้ก็มีโอกาสที่จะไม่ได้เงินต้นคืน

หากเอ่ยถึงสินทรัพย์ลงทุนอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมสูง คือ หุ้นกู้ ซึ่งเป็นตราสารหนี้ที่มีอายุมากกว่า 1 ปี ออกโดยบริษัทเอกชนเพื่อระดมทุนจากนักลงทุนในวงจำกัดหรือจากประชาชนทั่วไปเพื่อนำเงินไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยบริษัทผู้ออกหุ้นกู้จะสัญญาจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยให้นักลงทุนตามที่กำหนด ซึ่งมักจ่ายดอกเบี้ยเป็นรายงวด (เช่น 3 เดือน 6 เดือน) และจ่ายเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนดเวลากู้ยืม

หุ้นกู้

ถึงแม้ความโดดเด่นของหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอและได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากทั่วไป แต่หุ้นกู้ที่มีอยู่ในตลาดเป็นจำนวนมาก มีลักษณะและความเสี่ยงแตกต่างกัน โดยเฉพาะเงื่อนไขและรูปแบบที่หลากหลาย โดยบริษัทจะออกหุ้นกู้มาเสนอขายเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการเงินทุนและความสามารถในการชำระหนี้คืน รวมถึงดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุน จึงควรทำความเข้าใจให้ละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน โดยข้อมูลและรายละเอียดจะอยู่ในหนังสือชี้ชวน

องค์ประกอบหลักที่นักลงทุนควรรู้ก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นกู้

  • ชื่อผู้ออก ซึ่งจะระบุว่าใครเป็นผู้ออกหุ้นกู้
  • ประเภทหุ้นกู้ ปัจจุบันสามารถออกหุ้นกู้ได้หลากหลายรูปแบบ เช่น หุ้นกู้มีประกัน หุ้นกู้ไม่มีค้ำประกัน หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ หุ้นกู้ด้อยสิทธิ หุ้นกู้แปลงสภาพ เป็นต้น
  • มูลค่าที่ตราไว้หรือราคาพาร์ (Par) หรือมูลค่าหน้าหุ้นกู้หรือมูลค่าหน้าตั๋วหรือมูลค่าไถ่ถอน บอกถึงจำนวนเงินต้นที่นักลงทุนจะได้รับคืนเมื่อมีการไถ่ถอน ส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ที่ 1,000 บาท
  • อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วหรืออัตราดอกเบี้ยที่ตราไว้หรืออัตราคูปอง เป็นอัตราผลตอบแทนดอกเบี้ยที่ผู้ออกจะต้องชำระให้กับผู้ถือหุ้นกู้ตามวัน เดือน ปีที่กำหนดตลอดอายุหุ้นกู้ โดยมี 2 ประเภท คือ หุ้นกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยคงที่ และหุ้นกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยลอยตัว
  • งวดการชำระดอกเบี้ย เป็นจำนวนครั้งของการชำระดอกเบี้ย โดยมักกำหนดเป็นจำนวนครั้งที่ชำระต่อปี เช่น 1 ครั้งต่อปี 2 ครั้งต่อปี หรือ 4 ครั้งต่อปี
  • วันครบกำหนดไถ่ถอน เป็นวันที่ผู้ออกจะไถ่ถอนหุ้นกู้คืน คือ จ่ายเงินต้นตามมูลค่าที่ตราไว้ให้นักลงทุน มักจะกำหนดวันครบกำหนดไถ่ถอนเอาไว้ชัดเจน
  • ข้อสัญญา เป็นเงื่อนไขและข้อตกลงที่ผู้ออกจะต้องปฏิบัติตามหรือไม่ปฏิบัติตามตลอดอายุของหุ้นกู้ เพื่อประโยชน์ของนักลงทุน เช่น ต้องดำรงอัตราหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่าอัตราที่กำหนด ห้ามผู้ออกหุ้นกู้ควบรวมกิจการหรือห้ามนำหลักทรัพย์ค้ำประกันไปค้ำประกันเงินกู้อื่น ๆ

ถึงแม้ว่าหุ้นกู้จะมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออก (Credit Rating) บอกถึงความสามารถในการชำระหนี้ สะท้อนความเสี่ยงของผู้ออกหรือคุณภาพของหุ้นกู้ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เรียกว่า “ผิดนัดชำระหนี้” ทำให้นักลงทุนมีคำถามว่าการลงทุนหุ้นกู้ มีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน

หุ้นกู้

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สถาบันการจัดอันดับเครดิต ระบุว่าตลาดตราสารหนี้ของไทยในปี 2566 ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยหรือความเชื่อมั่นที่ลดลงของนักลงทุนภายหลังจากการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทที่ออกตราสารหนี้รายใหญ่รายหนึ่ง ซึ่งผู้บริหารถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำที่ส่อไป ในทางทุจริตเกี่ยวกับการตกแต่งข้อมูลทางบัญชี ส่งผลให้ตราสารหนี้ใหม่ (รวมตราสารหนี้ต่างประเทศที่ออกเป็นสกุลเงินบาท) ที่ออกและจดทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2566 ลดลงมาอยู่ที่ 1.01 ล้านล้านบาท จาก 1.24 ล้านล้านบาทในปี 2565 (ลดลงประมาณ 20%) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม มูลค่าของตราสารหนี้ระยะยาวคงค้างของภาคเอกชน สิ้นปี 2566 ยังคงเพิ่มขึ้น 7.76% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นจำนวน 4.49 ล้านล้านบาท

จากกรณีการผิดชำระหนี้หุ้นกู้ของ บมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ให้ความเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความตระหนักมากกว่าตระหนก เพราะอัตราผลตอบแทนที่ได้รับจากการถือครองพันธบัตร (Bond Yield) โดยรวมยังเคลื่อนไหวในระดับปกติ

“แน่นอนว่า Yield ของหุ้นกู้ STARK ได้เพิ่มสูงขึ้น (ราคาต่ำลง) แต่ Yield ของหุ้นกู้อื่น ๆ ไม่ได้พุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย เหมือนอย่างอดีตเมื่อเกิดความตระหนกในตลาดตราสารหนี้ แต่กรณีนี้ก็ทำให้นักลงทุนในหุ้นกู้ได้กลับมาตระหนักถึงความเสี่ยงในหุ้นกู้พอสมควร และมองเป็นความเสี่ยงรายตัว ไม่ใช่ปัญหาของตลาด ซึ่งพฤติกรรมของนักลงทุนหุ้นกู้ไทย คือ นิยมลงทุนแบบ Buy and Hold คือ ถือลงทุนยาวรอรับดอกเบี้ยและเงินต้นคืนมากกว่าเทรดซื้อขาย” ดร.สมจินต์ อธิบาย (ที่มา : สมาคมนักวางแผนการเงินไทย)

ที่ผ่านมา พบว่านักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังในการตัดสินใจลงทุนหุ้นกู้ หมายความว่า หากเป็นหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตสูง ๆ (ผู้ออกหุ้นกู้เป็นบริษัทที่มีประวัติการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง สถานะการเงินมั่นคง) ก็จะขายหุ้นกู้ได้ตามเป้าหมาย แต่หากหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตไม่สูง และผู้ออกอาจเป็นบริษัทที่มีขนาดกลางและขนาดเล็ก ก็มีโอกาสที่จะขายหุ้นกู้ไม่หมดตามเป้าหมายที่วางไว้ สะท้อนถึงนักลงทุนพิจารณาการลงทุนมากขึ้น

หุ้นกู้

“จากนี้ไปผู้ออกหุ้นกู้ก็จะมีงานหนักมากขึ้น ที่จะต้องทำการบ้าน รวบรวมข้อมูล สื่อสารกับนักลงทุนว่าเงินที่ระดมทุนไปนั้น จะนำไปลงทุนอะไรบ้าง มีความสามารถในการชำระหนี้คืนเป็นอย่างไร เพราะนักลงทุนมีความต้องการข้อมูลมากขึ้นก่อนตัดสินใจลงทุน” ดร.สมจินต์ ให้ความเห็น

ดังนั้น นอกจากจะพิจารณาปัจจัยพื้นฐานของผู้ออกหุ้นกู้แล้ว ต้องตรวจสอบคุณภาพหุ้นกู้ผ่านอันดับเครดิต (Credit Rating) ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจ “อันดับเครดิตก็สะท้อนถึงโอกาสของความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงการปรับลดอันดับก็เป็นสิ่งยืนยันถึงโอกาสความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นด้วย”

ตัวอย่าง

หุ้นกู้ที่มีการจัดอันดับเครดิต BB+ ลงไปจนถึง D หรือเรียกว่า หุ้นกู้กลุ่มต่ำกว่าระดับลงทุน (Non-Investment Grade) โดยสังเกตว่าผู้ออกมักจะมีความน่าเชื่อถือทางเครดิตต่ำกว่าบริษัทที่มีการจัดอันดับเครดิตในระดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade) พิจารณาได้ว่าอาจมีหนี้สินระดับสูง (D/E Ratio สูง) หรือมีโมเดลธุรกิจที่ผันผวนค่อนข้างสูง ทําให้รายได้และกระแสเงินสดไม่คงที่ จึงมีความเสี่ยงสูงที่ผู้ออกหุ้นกู้อาจไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินต้นได้ตรงเวลา และมีความเสี่ยงสูงต่อการผิดนัดชําระหนี้ ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ผู้ออกหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ จําเป็นต้องเสนออัตราผลตอบแทนสูง เพื่อจูงใจให้นักลงทุนยอมรับความเสี่ยงที่อาจไม่ได้รับเงินคืนตามที่คาดหวัง

ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนจึงควรศึกษาและทำความเข้าใจในลักษณะของหุ้นกู้ที่จะลงทุน พิจารณาความเสี่ยงที่เหมาะสมกับระดับที่ตัวเองสามารถยอมรับได้ และที่สำคัญความกระจายความเสี่ยง ไม่ควรนำเงินทั้งหมดที่สะสมมาทั้งชีวิตหรือเงินเกษียณมาลงทุนในหุ้นกู้เพียงอย่างเดียว

ที่มา : ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK