Stock

วิเคราะห์หุ้น SPRC หลังปิดดีลซื้อปั๊ม ‘คาลเท็กซ์’ รุกธุรกิจปลายน้ำเต็มสูบ

วิเคราะห์หุ้น SPRC หลังปิดดีลซื้อธุรกิจปั๊มคาลเท็กซ์ในประเทศไทย มูลค่าเงินลงทุน 5,562.5 ล้านบาท รุกธุรกิจปลายน้ำเต็มสูบ

เปิดศักราชปี 2567 ก็มีการปิดดีลใหญ่เรียบร้อยไปอีกหนึ่ง สำหรับ SPRC หรือ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ประกาศเสร็จสิ้นการซื้อธุรกิจจัดจำหน่ายปิโตรเลียมจาก Chevron Asia Pacific Holdings Limited (CAPHL) ภายใต้แบรนด์ “Caltex” หรือ ปั๊มคาลเท็กซ์ ไปเมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา ถือเป็นการจุดไฟให้สมรภูมิการแข่งขันธุรกิจปั๊มน้ำมันในไทยทวีความรุนแรงขึ้นอีกรอบ

จุดเริ่มต้นของดีลดังกล่าว เกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2566 หลังจากที่ SPRC แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าบริษัทมีแผนเข้าลงทุนในบริษัทเป้าหมายที่ดูแลธุรกิจปั๊มคาลเท็กซ์ในประเทศไทย ด้วยมูลค่าเงินลงทุน 5,562.5 ล้านบาท ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

คาลเท็กซ์

1. เข้าลงทุนในธุรกิจปั๊มน้ำมันแบรนด์คาลเท็กซ์ จำนวน 450 แห่ง ผ่านการซื้อหุ้น 100% ของบริษัท เชฟรอน ลูบริแคนท์ (ประเทศไทย) จํากัด จากกลุ่ม Chevron
2. เข้าลงทุนในสัดส่วนการถือครองหุ้นบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS 2.51%
3. เข้าลงทุนในสัดส่วนการถือครองหุ้นบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด 9.91%
4. เข้าลงทุนในที่ดินการประกอบธุรกิจและคลังน้ำมัน ในจังหวัดสงขลาและสุราษฎร์ธานี ผ่านการเข้าถือหุ้น 49% ในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ 2 บริษัท

คาลเท็กซ์

สำหรับเงินที่ใช้ในการลงทุนครั้งนี้ SPRC ใช้เงินทุนจากกระแสเงินสดภายในและกู้ยืม เนื่องจาก SPRC มีสัดส่วนหนี้ต่อส่วนผู้ถือหุ้นต่ำ ทำให้ยังกู้ยืมได้ โดย SPRC จะเริ่มรับรู้รายได้และกําไรจากธุรกิจปั๊มน้ำมัน รวมถึงเงินปันผลตามสัดส่วนถือหุ้น ตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปี 2567 เป็นต้นไป

การเข้าทําธุรกรรมครั้งนี้จะช่วยให้ SPRC ได้มาซึ่งธุรกิจจัดจําหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม จากการเป็นเจ้าของสถานีบริการน้ำมันภายใต้แบรนด์คาลเท็กซ์ และแบรนด์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 450 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ดําเนินการในรูปแบบผู้ค้าปลีกเป็นเจ้าของและเป็นผู้ดําเนินการ (RORO) โดยมีส่วนแบ่งการตลาดราว 4-5% ของปริมาณจําหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในปั๊มน้ำมันในประเทศไทย

ตลอดจนทรัพย์สินทั้งหมดที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ทั้งการลงทุนในธุรกิจขนส่งน้ำมันทางท่อ 3 เส้นทางหลัก ระยะทางรวม 360 กิโลเมตร รองรับการขนส่งน้ำมันจากโรงกลั่นและคลังน้ำมันใหญ่ในภาคตะวันออก มายังคลังน้ำมันที่จังหวัดปทุมทานีและสระบุรี ซึ่งจะเป็นแหล่งสํารองน้ำมัน และศูนย์กลางการจ่ายน้ำมันไปยังพื้นที่อื่นๆ รวมถึงธุรกิจให้บริการเติมน้ำมันอากาศยาน ซึ่งจะช่วยให้ SPRC สามารถดําเนินธุรกิจปลายน้ำของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมได้อย่างต่อเนื่องและครบวงจร

คาลเท็กซ์

มุมมองของบทวิเคราะห์ บล. เอเซีย พลัส คาดว่า SPRC จะรับรู้กําไรจากธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน และเงินปันผลรับจากธุรกิจขนส่งน้ำมันทางท่อ รวมประมาณ 400-650 ล้านบาทต่อปี ทำให้มีการปรับเพิ่มประมาณการกําไรของบริษัทตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป

ส่งผลให้เพิ่มมูลค่าหุ้น SPRC ขึ้น 0.7 บาทต่อหุ้น ราคาพื้นฐานหุ้นใหม่อยู่ที่ 10.90 บาทต่อหุ้น อย่างไรก็ตาม ช่วงระยะสั้นสั้นคาดกําไรไตรมาส 4/2566 จะปรับตัวลดลง สอดคล้องกับภาพรวมของกลุ่ม จึงแนะนำให้เน้นการ “เก็งกำไร TRADING” ตามประเด็นบวกจากการเข้าลงทุนดังกล่าวด้วยความระมัดระวัง

มุมมองระยะยาวในภาพรวมผลประกอบการปี 2567 ประเมินว่าปริมาณจําหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2% ภายใต้สถานการณ์มีการเดินทางภายในประเทศมากยิ่งขึ้น รวมถึงกําหนดสมมติฐานอัตรากําไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตร คงที่ในระดับ 0.55 บาทต่อลิตร ซึ่งอิงจากค่าเฉลี่ยในปี 2562-2564 ที่อยู่ในกรอบ 0.33-0.67 บาทต่อลิตร

ดังนั้น ฝ่ายวิจัย บล. เอเซีย พลัส จึงปรับเพิ่มประมาณการกําไรปกติตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ส่งผลให้กําไรปกติปี 2567-2568 เพิ่มขึ้น 10.3% และ 17.7% จากเดิม มาอยู่ที่ 4.3 และ 3.3 พันล้านบาท ตามลําดับ

สุดท้ายนี้ เชื่อว่าดีลการเข้าซื้อปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์ น่าจะกระทบต่อตลาดปั๊มน้ำมันในประเทศไทยแน่นอน จากล่าสุดที่ OR ครองส่วนแบ่งอันดับ 1 ตามมาด้วยบางจาก และพีทีจี ส่วนคาลเท็กซ์ แม้จะยังตามมาห่างๆ แต่การที่ SPRC เข้ามาดูแลแบบเต็มตัว ก็อาจเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาธุรกิจ เร่งขยายสาขา ขึ้นมาเบียดแย่งส่วนแบ่งตลาดในอนาคต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน