Stock

‘บางจาก’ ปิดจ๊อบ ‘เอสโซ่’ จิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญต่อภาพการเติบโต

ปิดจ๊อบ “บางจาก” ซื้อ “เอสโซ่” จิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญต่อภาพการเติบโต ดีลนี้ไม่แพง ขึ้นแท่นโรงกลั่นใหญ่ที่สุดของประเทศ

เกือบจะเรียบร้อยเสร็จสมบูรณ์แล้วสำหรับดีลประวัติศาสตร์ของ BCP หรือ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในการเข้าเทคโอเวอร์ธุรกิจของ ESSO หรือ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จากกลุ่ม ExxonMobil Asia Holding บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 BCP ได้เข้าซื้อหุ้นสามัญของ ESSO จำนวน 2,283.75 ล้านหุ้น หรือสัดส่วน 65.99% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดจาก ExxonMobil Asia Holding โดยมีราคาซื้อขายสุดท้ายอยู่ที่ 9.8986 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าราว 22,605 ล้านบาท

ปิดจ๊อบ บางจากซื้อ “เอสโซ่”

หลังจากนั้น BCP จะทำ Tender Offer (คำเสนอซื้อหลักทรัพย์ที่เหลือทั้งหมด) ของ ESSO ที่เหลืออีก 34.01% คิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,177 ล้านหุ้น กำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน ถึง 12 ตุลาคม 2566 ภายใต้ ณ ราคาเดียวกัน ทำให้จะต้องใช้เงินทุนอีกประมาณ 11,700 ล้านบาท ในกรณีที่สามารถทำ Tender Offer ได้หมด

ปิดจ๊อบ

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ BCP กล่าวว่า ธุรกรรมครั้งนี้นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญสำหรับทั้งอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศและสำหรับบริษัทเอง พร้อมมั่นใจว่าจะสามารถ synergy จากศักยภาพที่เกื้อหนุนกัน ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ทำให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงแหล่งพลังงานได้ดีขึ้น และยังช่วยให้มีกำไร (EBITDA) เพิ่มขึ้นในประเทศอีกนับพันล้านบาทต่อปี เพราะบริษัทจะเข้าดำเนินการโรงกลั่นน้ำมันขนาดกำลังการกลั่น 174,000 บาร์เรลต่อวัน เครือข่ายคลังน้ำมัน และสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศกว่า 800 แห่งได้ทันที

ปิดจ๊อบ

ปิดจ๊อบ ดีลนี้ไม่แพง ฐานะการเงินยังแข็งแกร่ง

แม้ว่าราคาที่ BCP จ่ายเพื่อซื้อหุ้น ESSO ที่ 9.8986 บาทต่อหุ้น จะสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังไม่ได้แพงจนเกินไป เพราะอยู่ในกรอบที่บริษัทเคยให้ข้อมูลไว้ในช่วง 7.4 – 10.3 บาทต่อหุ้น และหากอ้างอิงประมาณการ ESSO ของ Bloomberg Consensus ราคาดังกล่าวคิดเป็น PBV ปี 2567 ที่ 1.1 (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ 1.4 เท่า) และ PER ปี 2567 ที่ 7.6 เท่า (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ 8.4 เท่า)

ทั้งนี้ BCP จะใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมสถาบันการเงินทั้งหมด ซึ่งก่อนเกิดธุรกรรมบริษัทมีอัตราส่วน Net DER อยู่ที่ 0.4 เท่า หากสามารถทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือได้ทั้งหมด ธุรกรรมนี้จะใช้เงินรวม 34,000 ล้านบาท ทำให้ Net DER จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 เท่า  ยังอยู่ภายใต้ข้อกำหนด Debt Covenant ที่ 2.0 เท่า ทำให้ฐานะทางการเงินของ BCP ยังคงแข็งแกร่ง และเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน

ขึ้นแท่นโรงกลั่นใหญ่ที่สุดของประเทศ

ภายหลังการควบรวมกิจการแล้ว จะส่งผลให้โรงกลั่นภายใต้การดูแลของ BCP จะมีกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเป็น 3 แสนบาร์เรลต่อวัน จากเดิมอยู่ที่ 1.20 แสนบาร์เรลต่อวัน นับเป็นผู้ประกอบการโรงกลั่นที่มีกำลังกลั่นสูงสุดในประเทศไทย

ปิดจ๊อบ

โดยจะสามารถดำเนินธุรกิจได้ครบวงจรมากขึ้น ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีการกลั่นที่เสริมกันของโรงกลั่นทั้งสอง เพิ่มความหลากหลายในการจัดหาน้ำมันดิบ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหาและขนส่งน้ำมันดิบร่วมกัน เพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดและปรับปรุงประสิทธิภาพการกลั่น รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์จากแผนบำรุงรักษาโรงกลั่นร่วมกัน

นอกจากนี้ ยังไม่รวมแนวโน้มอัพไซด์จากธุรกิจเคมีภัณฑ์ของ ESSO เนื่องจากโรงงานอะโรเมติกส์ที่ถูกปิดสายการผลิตไปตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2564  สินทรัพย์นี้ไม่ได้ถูกนับรวมในการประเมินมูลค่าหุ้นของ ESSO และมีโอกาสที่ BCP จะพิจารณาว่าจะกลับมาเปิดดําเนินการโรงงาน PX อีกครั้ง หากภาวะเศรษฐกิจเอื้ออำนวย

ทวงคืนตำแหน่งปั๊มน้ำมันอันดับ 2

ในส่วนของธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน บริษัทจะมีปั๊มน้ำมันทั่วประเทศรวมกว่า 2,200 แห่ง โดยสถานีบริการของเอสโซ่จะเริ่มทยอยเปลี่ยนป้ายเป็นสถานีบริการบางจากภายใน 2 ปี ทำให้เมื่อวัดกันที่จำนวนสถานี BCP จะสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ แต่หากวัดที่ส่วนแบ่งการตลาดด้านปริมาณขาย BCP จะไล่บี้ขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 29.1% เป็นรองเพียง OR เจ้าเดียวที่มีส่วนแบ่งประมาณ 39.0%

สรุปได้ว่าการเข้าซื้อกิจการของ BCP ครั้งนี้ เปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่จะต่อภาพขยายกิจการสู่การเติบโตในระยะยาว สอดคล้องกับกลยุทธ์ขยายธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ด้วยการเสริมสร้างจุดยืนที่แข็งแกร่งด้านธุรกิจพลังงานระดับประเทศและระดับภูมิภาคมากยิ่งขึ้นไปอีกด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน