Stock

การลงทุนมีความเสี่ยง! เช็กวิธีดู ‘หุ้นกู้’ ที่มีโอกาสเบี้ยวหนี้!!!

ก่อนที่จะซื้อ “หุ้นกู้” ต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบว่า “หุ้นกู้” ที่เราซื้อจะมีโอกาสเบี้ยวหนี้หรือไม่ อย่าไปโลภกับดอกเบี้ยที่อาจดูน่าจูงใจ

ข่าวคราววันนี้ที่เริ่มมีมาให้เห็นบ่อยๆ ก็คือ ข่าวปัญหาของผลิตภัณฑ์การเงินไม่ว่าจะเป็นหุ้นที่มีข่าวปั่นหุ้นบ้าง โกงบัญชีบ้าง ฯลฯ จนสร้างความเข็ดขยาดให้กับนักลงทุนในตลาดทั่วไป แต่กับคนที่ไม่ใช่นักลงทุนในตลาดก็ใช่ว่าจะปลอดภัย เพราะยังมีผลิตภัณฑ์การเงินอีกหลายอย่างที่คนทั่วไปสามารถลงทุนได้ ไม่จำกัดว่าต้องเป็นนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯเท่านั้น หนึ่งในผลิตภัณฑ์การเงินที่ได้รับความสนใจมาก ก็คือ หุ้นกู้ภาคเอกชน

หุ้นกู้

หุ้นกู้ภาคเอกชน คือ “ตราสารหนี้” ที่ออกโดยภาคเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขอยืมเงินจากคนที่มีเงินเอามาใช้ในกิจการต่างๆ ของบริษัท เช่น เพื่อการลงทุนขยายกิจการ ซื้ออุปกรณ์ หรือเพื่อก่อสร้างโรงงาน เป็นต้น หุ้นกู้สามารถแบ่งออกเป็นหน่วยๆ แต่ละหน่วยมีมูลค่าเท่า ๆ กัน ในประเทศไทยการออกหุ้นกู้โดยทั่วไปมักจะกำหนดมูลค่าหน่วยละ 1,000 บาท

ดังนั้นคนออกหุ้นกู้จึงมีฐานะเป็น “ลูกหนี้” เมื่อเราซื้อหุ้นกู้ ก็หมายความว่า เราให้บริษัทผู้ออกหุ้นกู้นั้น ๆ ยืมเงิน พูดง่าย ๆ คือ เราจะอยู่ในสถานะของ “เจ้าหนี้” โดยเราคาดหวังว่าบริษัทผู้ออกหุ้นกู้นั้นจะจ่ายดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันตลอดช่วงอายุของหุ้นกู้ และจะชำระเงินต้นคืน ณ วันครบกำหนดอายุของหุ้นกู้ตามสัญญา ถ้าคนออกหุ้นกู้เกิดเบี้ยวไม่จ่ายดอกเบี้ยหรือเงินต้นคืนตามสัญญา ความเสียหายก็จะตกอยู่กับเราซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ไม่มีการคุ้มครอง 1 ล้านบาทเหมือนกับการฝากแบงค์หรือซื้อประกันชีวิตแต่อย่างใด โอกาสที่จะได้รับเงินต้นคืนเต็มจำนวนยากมาก

ดังนั้น ก่อนที่จะซื้อหุ้นกู้ เราจึงต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบว่า หุ้นกู้ที่เราซื้อจะมีโอกาสเบี้ยวหนี้หรือไม่ อย่าไปโลภกับดอกเบี้ยที่อาจดูน่าจูงใจ ระลึกไว้เสมอว่า ธรรมดาลูกหนี้ไม่อยากจ่ายดอกเบี้ยแพงๆ แน่นอน แต่ที่หุ้นกู้บางตัวให้ดอกเบี้ยที่สูงมากๆ ก็เพราะเป็นหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเบี้ยวหนี้สูงนั่นเอง ทำนองยิ่งให้ผลตอบแทนสูง ยิ่งมีความเสี่ยงสูง แต่ก็ไม่เสมอไปนะว่า หุ้นกู้ที่ให้ดอกเบี้ยถูก จะไม่เสี่ยงหรือมีความเสี่ยงต่ำ แล้วอย่างนี้เราจะดูอย่างไรว่าหุ้นกู้ตัวไหนมีความเสี่ยงที่จะเบี้ยวหนี้

หุ้นกู้

วิธีดูก็เหมือนกับการที่เราจะให้เพื่อนยืมเงินนั่นแหละ คือ ดูที่กายกับใจ

ดูที่ใจ

คือ ดูว่าเพื่อนคนนี้ซื่อสัตย์ ไว้ใจได้หรือไม่ จะดูยังไง ก็ดูจากพฤติกรรมที่ผ่านมา ถ้าเพื่อนคนนี้เครดิตดี ซื่อสัตย์ ก็น่าจะไว้ใจได้ กรณีหุ้นกู้ก็เช่นกัน เราต้องพิจารณาพฤติกรรมที่ผ่านมาของเจ้าของ ผู้บริหารบริษัทว่าเป็นคนที่มีเครดิตดี ซื่อสัตย์หรือไม่ ถ้ามาทำนอง “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” เราก็ “ไม่ให้ยืม” จะดีกว่า

เบี้ยวเราก็หนักแล้ว ถ้าเบี้ยวสรรพากร หนีภาษี เสียภาษีไม่ครบ คือ ระเบิดเวลาดีๆ สรรพากรตรวจพบอาจถึงกับล้มละลายได้ ถ้าเป็นบริษัท เราควรดูงบการเงิน อย่างน้อยดูว่างบนั้นคนทำบัญชี กับผู้สอบบัญชี น่าเชื่อถือหรือไม่

ดูที่กาย

คือ ดูความสามารถในการชำระหนี้ของเพื่อนว่ามีมากน้อยแค่ไหน เราวางใจได้แค่ไหนว่าเพื่อนจะมีเงินมาใช้คืนเรา จะดูว่าคนออกหุ้นกู้มีความสามารถจ่ายคืนหนี้มากน้อยแค่ไหน จะดูอย่างไร

หุ้นกู้

ดูทรัพย์สินที่มีอยู่ว่าใครเป็นเจ้าของ

ไม่ใช่เสมอไปนะว่า เจ้าของธุรกิจเป็นเจ้าของทรัพย์สิน อย่างเช่น บ้านหลังใหญ่ๆ ที่เราเห็น เจ้าของบ้านอาจเป็นแบงค์ที่ปล่อยกู้ก็ได้ ในช่วงเศรษฐกิจซบเซา เห็นบ่อยๆ เลยว่า บ้านหลังใหญ่ๆ ถูกแบงค์ยึดขายทอดตลาด เพราะคนกู้ไม่มีเงินมาจ่ายค่าผ่อนบ้าน ธุรกิจก็เช่นกัน ต้องดูว่าธุรกิจมีหนี้มากน้อยแค่ไหน ถ้ามีหนี้เทียบกับทรัพย์สินที่มีอยู่มาก แปลว่า ทรัพย์สินส่วนใหญ่คนที่เป็นเจ้าของตัวจริง คือ เจ้าหนี้ เวลาธุรกิจมีรายได้ ก็ต้องเอาไปจ่ายหนี้ จ่ายดอกเบี้ยมาก เหลือเงินมาพัฒนาธุรกิจน้อย โอกาสธุรกิจเติบโตก็ลำบาก

เหมือนครอบครัวไหน ถ้ามีหนี้เยอะ รายได้ที่หาได้ก็ต้องเอาไปจ่ายหนี้ โอกาสร่ำรวยหรือมีฐานะการเงินมั่นคงก็ยาก และหากธุรกิจมีปัญหา ก็จะมีทรัพย์สินเหลือคืนหนี้ให้เราน้อย เพราะมีเจ้าหนี้หลายคนมาร่วมยึดทรัพย์สินไปชำระหนี้ และหากเจ้าหนี้คนอื่นมีทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน โอกาสเราได้เงินคืนยิ่งน้อย

ดูทรัพย์สินสภาพคล่อง คือ ทรัพย์สินที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว

อย่างเช่น เงินฝาก สินค้าคงคลัง หลักทรัพย์ ฯลฯ เวลาเราดูว่าจะเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็วแค่ไหน เราต้องดูว่าหากจำเป็นต้องขายทรัพย์สินมาใช้หนี้จะขายได้กี่บาท เราจึงต้องดูราคาตลาด เทียบกับหนี้ระยะสั้นที่ต้องจ่ายว่ามีพอหรือไม่ ถ้ามีน้อยกว่าหนี้ระยะสั้น ก็อันตราย

ดูว่าธุรกิจมีการลงทุนสูง ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระผูกพันมากหรือไม่

อย่างเช่น มีการสร้างตึกสูง ๆ โรงงานใหญ่ ๆ หรือซื้อธุรกิจอื่นที่ใช้เงินลงทุนสูงมาก หากมีก็ต้องดูว่าเงินที่เอามาลงทุน มาจากเงินของตนเองหรือเงินกู้ ทรัพย์สินที่ลงทุนก่อให้เกิดรายได้ในอนาคตหรือไม่ ถ้าเงินลงทุนมาจากเงินกู้ ทรัพย์สินที่ลงทุนไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ ก่อให้เกิดรายได้แต่ไม่คุ้มกับดอกเบี้ยที่จ่าย ธุรกิจก็มีปัญหาในอนาคตได้

หุ้นกู้

ดูว่าจะหาเงินได้มากพอจ่ายหนี้หรือไม่

ก็ดูว่า ธุรกิจที่ทำมีอนาคตหรือไม่ สร้างรายได้เยอะพอหรือไม่ ดูจากยอดขาย การเติบโตของยอดขายว่ามากพอ และเติบโตต่อเนื่องหรือไม่ ถ้ารายได้มากพอในปีนี้ แต่เป็นธุรกิจที่อยู่ในภาวะขาลง ยอดรายได้มีแนวโน้มลดลง โอกาสเบี้ยวหนี้ก็จะสูง เพราะค่าใช้จ่ายอย่างเช่น เงินเดือนพนักงาน จะเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี

ดูขายได้เยอะอย่างเดียวไม่พอ ต้องดูว่าเก็บเงินได้หรือไม่

ถ้าขายได้เยอะ แต่ลูกหนี้การค้ามาก เก็บเงินได้ยาก หรือลูกหนี้เบี้ยวไม่จ่ายเยอะ อันนี้หนักกว่าขายไม่ได้อีก เพราะขายได้แปลว่าเราเสียต้นทุนสินค้าที่ขายไปแล้ว แต่เก็บเงินไม่ได้ ธุรกิจจะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายเจ้าหนี้การค้า ธุรกิจก็มีปัญหาได้

ดูกำไรขั้นต้น

ขายได้เยอะ แต่กำไรขั้นต้น (ราคาขาย-ต้นทุนสินค้า) น้อย แปลว่า ธุรกิจนั้นมีการแข่งขันกันสูง อำนาจต่อรองอยู่ที่คนซื้อ รายได้ขึ้นอยู่กับยอดขาย ถ้ามีการแข่งขันมาก ยอดขายลดลง ธุรกิจก็มีปัญหาได้

หุ้นกู้

ดูค่าใช้จ่าย

ยิ่งค่าใช้จ่ายยิ่งมาก กำไรจะเหลือน้อย ยิ่งค่าใช้จ่ายคงที่ ประเภทที่ไม่ว่าจะขายได้มากหรือน้อย ก็ต้องจ่ายอยู่ดี แถมยังต้องจ่ายเพิ่มทุก ๆ ปี อย่างเช่น ค่าเงินเดือนพนักงาน ถ้ายิ่งมาก ธุรกิจยิ่งมีโอกาสมีปัญหา

ดูกำไรก่อนจ่ายดอกเบี้ย

ดูว่ากำไรที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจแล้ว เหลือเงินจ่ายดอกเบี้ยเจ้าหนี้มากน้อยแค่ไหน ถ้ามีไม่พอจ่ายดอกเบี้ย แปลว่าธุรกิจต้องหาเงินทางอื่นมาจ่ายดอกเบี้ย ไม่กู้เงินคนอื่นมาจ่ายดอกเบี้ย ก็ต้องขายทรัพย์สินมาจ่ายดอกเบี้ย หรือมีกำไรก่อนจ่ายดอกเบี้ยพอจ่ายดอกเบี้ยแบบปริ่ม ๆ คือมีพอดี ๆ แสดงว่า ธุรกิจกำลังลอยคออยู่ในน้ำ โอกาสจมน้ำมีมากถ้าแรงหมด ดอกเบี้ยคือ น้ำ ถ้าไม่ได้ลด แต่ธุรกิจหมดแรงก่อน ก็จมน้ำ โอกาสเบี้ยวหนี้มีมาก

อาจดูแล้วยุ่งยาก แต่เงินเราหายากกว่าเยอะ ถ้ามักง่ายในการลงทุน เงินก็จะหายได้ง่าย ๆ เหมือนกัน ถ้าคิดว่ายุ่งยาก ก็อย่าเสี่ยงกับดอกเบี้ยที่ได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเลย รักษาเงินต้นเราไว้ดีกว่า แต่ถ้าอยากลงทุนมากจริง ๆ ก็ลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีผู้จัดการกองทุนคอยบริหารจัดการให้ ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี

โดย : สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP

ขอบคุณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK