Stock

เอลนีโญ กระทบ ‘CKPower’ หวังฤดูกาลน้ำหลาก พลิกฟื้นผลประกอบการ

CKPower เผยครึ่งปีแรก รับผลกระทบจากเอลนีโญ คาดไตรมาส 3 ดีขึ้นตามฤดูกาลน้ำหลาก พร้อมวางแผนรับมือภัยแล้งเป็นระบบ ย้ำเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเป็น 93%

นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower (ชื่อย่อหลักทรัพย์: CKP) หนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และมีเป้าหมายที่จะมีระดับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำที่สุดรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ปรากฎการณ์เอลนีโญ ทำให้สภาพภูมิอากาศโลกแปรปรวน เกิดภัยแล้งเป็นวงกว้าง รวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เอลนีโญ

ทั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 และปริมาณน้ำไหลผ่านโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ผลการดำเนินงานของ CKPower ในไตรมาสที่ 2/2566 และครึ่งปีแรกของปีนี้ลดลง

บริษัทฯ ได้ประกาศความพร้อมจ่ายไฟฟ้าภายใต้หลักความระมัดระวัง และบริหารจัดการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำน้อย โดยคาดว่าในไตรมาสที่ 3/2566 ผลการดำเนินงานจะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 2/2566 จากปัจจัยตามฤดูกาลน้ำหลาก

สำหรับในไตรมาส 2 ปีนี้ บริษัทฯ มีรายได้รวม 2,566 ล้านบาท ลดลง 93 ล้านบาท หรือ 3.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 2,659 ล้านบาท และมีรายได้รวมงวด 6 เดือนแรกของปีนี้จำนวน 5,251 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวด 6 เดือนแรกของปีที่แล้ว 49 ล้านบาท คิดเป็น 0.9%

รายได้ที่เพิ่มขึ้น มาจาก รายได้ค่าบริหารโครงการ และรายได้อื่นที่เกี่ยวข้องที่เพิ่มขึ้น ส่วนกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทในไตรมาส 2 และครึ่งปีแรกของปี 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในไตรมาส 2 ปีนี้ CKPower มีกำไร 1.8 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 864 ล้านบาท หรือลดลง 99.8%

S 73711634 0
ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์

ขณะที่ 6 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทฯ รับรู้ผลขาดทุนสุทธิจำนวน 103 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีกำไรสุทธิ 903 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนใน XPCL จากปริมาณการขายไฟฟ้าที่ลดลงตามปริมาณน้ำ และจากค่าใช้จ่ายทางการเงินเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มดอกเบี้ยโลก

ส่วน NN2 มีรายได้จากการขายไฟฟ้าลดลง และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากงานซ่อมบำรุงใหญ่ (Major Overhaul) ซึ่งเป็นไปตามแผนการซ่อมบำรุงปกติ ส่วนโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ บางเขนชัย (BKC) มีรายได้ลดลงจากการสิ้นสุดการได้รับ Adder

อย่างไรก็ตาม ฐานะการเงินของบริษัทฯ ยังคงแข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินที่ภาระดอกเบี้ยจ่ายสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่ 0.62 เท่า

ฤดูแล้งของปีนี้ ถือเป็นอีกปีที่หนักหน่วง เพราะมีสถานการณ์เอลนีโญเข้ามาสมทบ แต่บริษัทเชื่อมั่นว่าจะสามารถผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ไปได้ด้วยดี เนื่องจากบริษัทมั่นใจว่าในไตรมาส 3 จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลน้ำหลาก อีกทั้งได้มีการวางแผนและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือเรื่องภัยแล้งอย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ติดตามสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ และประเทศไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของ CKP

S 73711637 0

นายธนวัฒน์ เพิ่มเติมว่า ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2566 พบว่า 83% ของหนี้สินระยะยาวตามงบการเงินรวมของ CKP เป็นหุ้นกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ และต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 3.50% และในส่วนของ XPCL ซึ่งเป็นบริษัทร่วมก็มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยผ่านการทำ Interest Rate Swap และการออกหุ้นกู้ เพื่อบริหารจัดการหนี้สินระยะยาวให้มีสัดส่วนดอกเบี้ยคงที่ และดอกเบี้ยลอยตัวที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2566 CKPower ได้ตั้งเป้าหมายปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 1 และ 2 ไม่เกิน 723,674 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 CKPower ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 354,851 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) ซึ่งถือว่าดีกว่าเป้าหมายที่บริษัทตั้งไว้

พร้อมกันนี้ คาดว่าในครึ่งปีหลัง จะบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ไม่เกินเป้าหมายหรือดีกว่าเป้าหมาย โดยมีโครงการลดการใช้พลังงาน โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรภายในองค์กร และมีแผนที่จะใช้รถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาทดแทนรถยนต์เดิม และจะเพิ่มการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายในองค์กรจากเดิม 88% เป็น 92% ภายในปีนี้

บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่าง ๆ 3 ประเภท จำนวน 14 แห่ง รวมขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 3,627 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย

(1) โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 3 แห่ง

  • โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 ภายใต้ บริษัท ไฟฟ้า น้ำงึม 2 จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 46% (ถือผ่าน บริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์
  • โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ภายใต้ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 42.5% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์
  • โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ หลวงพระบาง ภายใต้ บริษัท หลวงพระบางพาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 50.0% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,460 เมกะวัตต์

น้ำงึม2

(2) โรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น 2 แห่ง ภายใต้ บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 65% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 238 เมกะวัตต์ และ

(3) โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 9 แห่ง

  • บริษัท บางเขนชัย จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 100% จำนวน 7 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 15 เมกะวัตต์
  • บริษัท นครราชสีมา โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 30% จำนวน 1 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์
  • บริษัท เชียงราย โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 30% จำนวน 1 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์

CKPower ยังเป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดและมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรที่ต่ำที่สุดในภูมิภาค โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนจากเดิม 93% เป็น 95% หรือ 4,800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2567

นอกจากนี้ CKPower ยังสนับสนุนเป้าหมายที่มุ่งเน้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ภายในปี 2593 ด้วยการพัฒนานวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด โดยล่าสุดในปี 2565 โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในเครือของกลุ่มบริษัท CKPower สามารถผลิตไฟฟ้าสะอาดส่งให้ประเทศไทยได้ถึง 9,767 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) หรือ 4.5% ของไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศ เทียบเท่ากับการหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

ในปี 2565 CKPower ได้รับการอันดับเครดิตองค์กรจากทริสเรตติ้ง ที่ “A” แนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่” และได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo