Stock

กว่า 64 ปี!! เจาะหุ้น KCG ผู้ผลิตคุกกี้กล่องแดงกำลังจะ IPO

หุ้น KCG ผู้ผลิตคุกกี้กล่องแดงในตำนาน ที่กำลังจะไอพีโอ เราจะพาไปรู้จักกับ KCG บนเส้นทางธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารกว่า 64 ปี พร้อมสำรวจแบรนด์ผลิตภัณฑ์ชื่อดัง รายได้ กำไร ช่วงที่ผ่านมา

ขนมคุกกี้กล่องแดงในตำนานที่มีทหารบนหน้ากล่อง และมักจะถูกนำมาเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลปีใหม่อยู่เสมออย่างแบรนด์ Imperial (อิมพีเรียล) รู้ไหมว่านี่ไม่ใช่ขนมจากต่างประเทศ แต่ผลิตโดยบริษัทสัญชาติไทยอย่าง บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งมีแผนจะระดมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เสนอขายหุ้น IPO โดยใช้ชื่อย่อว่า KCG ในเร็วๆ นี้

คุกกี้ กล่องแดงในตำนาน

วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับหุ้น KCG กับเส้นทางในธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารกว่า 64 ปี โดยสรุปง่ายๆ ใน 10 ข้อว่าบริษัทมีธุรกิจอะไรบ้าง สำรวจแบรนด์ผลิตภัณฑ์ชื่อดัง รายได้และกำไรที่ผ่านมา กลยุทธ์ขับเคลื่อนการเติบโต ตลอดจนความน่าสนใจของแผนการเสนอขาย IPO

 1. KCG ทำธุรกิจอะไร มีประวัติความเป็นมายังไง

เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจอาหารและเบเกอรี เน้นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เนย ชีส โดยมีจุดเริ่มต้นจาก ห้างหุ้นส่วนจำกัด กิมจั๊วพาณิชย์ ด้วยการนำเข้าผลิตภัณฑ์เนยและชีสชั้นนำจากทั่วโลก จนปัจจุบันมีสินค้ารวมกว่า 2,100 รายการ จากการขยายธุรกิจให้ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการวิจัย พัฒนา คิดค้นสูตร การจัดหาวัตถุดิบ การผลิตสินค้า รวมไปถึงการจัดจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

คุกกี้

2. แบรนด์ผลิตภัณฑ์หลักของ KCG

สินค้าของ KCG แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่
1.  กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ได้แก่ เนย ชีส และสินค้าที่แปรรูปมาจากนม เช่น นมพร้อมดื่ม วิปปิ้งครีม ครีมชีส และโยเกิร์ต ภายใต้แบรนด์ที่ทุกคนคุ้นเคยอย่างเช่น Imperial และ Allowrie
2. กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการประกอบอาหารและเบเกอรี และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น น้ำมันมะกอก, มายองเนส, แป้งเค้ก, แป้งมิกซ์, ยีสต์, ไส้ขนมปัง, น้ำเชื่อม, น้ำผึ้ง, ผงฟู, สารเสริมคุณภาพอาหาร, น้ำผลไม้เข้มข้น และอุปกรณ์ในการประกอบอาหาร
3.  กลุ่มผลิตภัณฑ์บิสกิต ประกอบด้วย คุกกี้ แครกเกอร์ และเวเฟอร์

3. สัดส่วนรายได้รวม

โครงสร้างรายได้ของ KCG ย้อนหลังตลอด 3 ปี (2563-2565) ปัจจุบันรายได้ส่วนใหญ่ 60% มาจากการขายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม รองลงมาอยู่ที่ 30% เป็นรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์สำหรับประกอบอาหารและเบเกอรี่ ส่วนผลิตภัณฑ์บิสกิตมีสัดส่วนประมาณ 10% ของรายได้รวม

4. รายได้และกำไรย้อนหลัง

KCG ทำผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งในช่วงโควิด เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่จำเป็นต่อการบริโภค โดยในปี 2563-2565 บริษัทมีรายได้รวม 4,950 ล้านบาท 5,265 ล้านบาท และ 6,233 ล้านบาท ตามลำดับ

กำไรสุทธิระหว่างปี 2563-2565 ทำได้ 244 ล้านบาท 303 ล้านบาท และ 241 ล้านบาท ตามลำดับ สาเหตุทัี่ปี 2565 กำไรลดลง เนื่องจากการปรับตัวของราคาวัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ จากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน และต้นทุนค่าขนส่งสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาท ทำให้ต้นทุนขายของบริษัทสูงกว่าราคาขาย

ขณะที่ผลดำเนินงาน 3 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทมีรายได้ 1,723.3 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 58.4 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 30.6% และ 81.4% ตามลำดับ โดยหลักมาจากยอดขายผลิตภัณฑ์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

คุกกี้

5. อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ (งวดปี 2565)
– อัตรากำไรขั้นต้น 28.7%
– อัตรากำไรสุทธิ 18%
– ROE 3.7%
– ROA 18%
– D/E 4.8 เท่า
– นโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 40%

6. จุดเด่นและข้อได้เปรียบทางธุรกิจของ KCG
เราขอสรุปออกมาเป็นดังนี้ ประกอบด้วย

1. แบรนด์ผลิตภัณฑ์ที่เป็น Top of Mind ของคนไทยมานานกว่าครึ่งศตวรรษ

2. มีศูนย์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารของบริษัทเอง ทำให้พัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้เสมอ

3. มีประสบการณ์ในการจัดหาวัตถุดิบจากต่างประเทศ

4.ช่องทางจัดจำหน่ายหลากหลายทั้งร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ร้านค้าแบบดั้งเดิม ช่องทางออนไลน์ การขายผ่าน B2B และการส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และภูมิภาคอื่นๆ 5.) ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง

7. กลยุทธ์การเติบโตของ KCG
KCG มีเป้าหมายก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพรายใหญ่ในประเทศไทย และเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเนย ชีส ระดับโลก ผ่านกลยุทธ์หลัก ได้แก่
– ขยายกำลังการผลิต พัฒนากระบวนการและเทคโนโลยีการผลิต
– พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และพัฒนาความสามารถด้านนวัตกรรม
– ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์และการส่งออกไปยังต่างประเทศ
– แสวงหาโอกาสขยายธุรกิจผ่านการควบรวมกิจการ (M&A Opportunities)

8. แนวโน้มอุตสาหกรรมเนยและชีส
เนยและชีสเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้หลักให้กับ KCG ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการจะเติบโตทุกปี จากกรใช้ในอุตสาหกรรมร้านอาหารที่เริ่มฟื้นตัวหลังโควิด คาดว่าระหว่างปี 2565-2568 ตลาดเนยจะเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 7% ส่วนตลาดชีสจะเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 7.4% ต่อปี

คุกกี้

9. แผนการเสนอขาย IPO หุ้น KCG
ข้อมูลล่าสุด KCG KCG คาดเข้าซื้อขายกระดาน SET หมวดธุรกิจ (sector) อาหารและเครื่องดื่ม ภายใน 3 สิงหาคมนี้ เคาะราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่ 8.50 บาทต่อหุ้น พร้อมเตรียมเปิดให้นักลงทุนจองซื้อวันที่ 20 – 21 และ 24 กรกฎาคม 2566

10. เป้าหมายการระดมทุนหลังเข้าตลาดหุ้น
มีเป้าหมายการระดมทุนเพื่อไปใช้ก่อสร้างและพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า KCG Logistics Park, ซื้อเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิต และปรับปรุงพื้นที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการผลิต, ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน รวมทั้งเป็นเงินทุนหมุนเวียน

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน