Stock

แนวโน้มหุ้นไทย หลังการเมืองยังไม่ได้ข้อยุติ – ประเมินกรอบดัชนี SET Index

ฉายภาพแนวโน้มหุ้นไทย 4 กรณี หลัง “พิธา” ไม่ผ่านโหวตนายกรัฐมนตรีรอบแรก พร้อมประเมินกรอบดัชนี SET Index

ประเด็นทางการเมืองเป็นสิ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจมากที่สุดในเวลานี้ โดยเฉพาะเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรี หลังเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 การเสนอชื่อ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังไม่ผ่านเสียงโหวตในรอบแรก จึงยังเหลือการโหวตครั้งที่ 2-3 ตามที่มีกำหนดออกมาเบื้องต้นในวันที่ 19 และ 20 กรกฎาคมนี้ ซึ่งก็ยังคงคลุมเครือ เต็มไปด้วยความไม่ชัดเจน และต้องติดตามกันต่อไปว่าฉากทัศน์ของการเมืองไทยจะออกมาเป็นอย่างไร

ตลาดหุ้นชอบความชัดเจน แต่การที่หลายๆ อย่างยังไม่ได้ข้อสรุปแบบนี้ จึงเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ลำบาก และส่งผลให้ในรอบครึ่งปี 2566 หุ้นไทยนั้นทำผลตอบแทนได้เกือบจะแย่ที่สุดในโลก สวนทางหุ้นโลกและตลาดอื่นๆ ในภูมิภาคที่ปรับตัวขึ้นสวยงาม คำถามคือทิศทางต่อไปของหุ้นจะก้าวต่อไปอย่างไร เราลองมาสำรวจมุมมองบทวิเคราะห์กันครับ

นักวิเคราะห์ บล.กรุงศรี พัฒนสิน ฉายภาพการเมืองไทยออกมาเป็น 4 กรณี หลัง “พิธา” ไม่ผ่านโหวตนายกรัฐมนตรีรอบแรก พร้อมประเมินกรอบดัชนี SET Index ออกมาเป็นดังนี้

กรณีที่ 1 พิธาได้เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำรวม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ประเมินดัชนีหุ้นไทยที่ 1600-1620 จุด
มองว่ากรณีนี้จะทำให้ตลาดได้รับความชัดเจน และหนุนให้ SET ปรับตัวขึ้นได้ แต่ก็มีความเสี่ยงด้านนโยบายต่อตลาดทุน ซึ่งในระยะกลางเป็นอะไรที่ต้องติดตามจึงอาจจำกัดกรอบราว 1600-1620 จุด แนะนำกลุ่มที่เคลื่อนไหวดีกว่าตลาด คือ หุ้นที่อิงการบริโภคขนาดกลางที่รากฐานแข็งแรงขึ้น และหุ้นที่ได้ประโยชน์จากรัฐสวัสดิการ รวมถึงหุ้นท่องเที่ยวที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจปัจจุบัน

พิธา244

กรณีที่ 2 พิธาไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลกับ 8 พรรคร่วมปัจจุบัน ประเมินดัชนีหุ้นไทยที่ 1680-1720 จุด (Best Case)

มองว่าความชัดเจนจะหนุน SET เช่นกัน แต่มีความเสี่ยงด้านนโยบายต่อตลาดทุนระยะกลางที่จะต่ำกว่ากรณีแรก ทำให้ตลาดหุ้นแกว่งขึ้นไปถึง 1680-1720 จุด โดยกลุ่มเคลื่อนไหวดีกว่าตลาด คือ หุ้นพลังงาน หุ้นสื่อสาร หุ้นอสังหาฯ นอกจากนี้ หากไม่เกิดการชุมนุมที่มีความรุนแรง กลุ่มที่เคลื่อนไหวบวกตามมา คือ หุ้นธนาคาร หุ้นค้าปลีก หุ้นนิคมอุตสาหกรรม และหุ้นท่องเที่ยว

กรณีที่ 3 พิธาไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาล แต่พลิกขั้วไปจับมือกับพรรคฝ่ายตรงข้าม ประเมินดัชนีหุ้นไทยที่ 1620-1680 จุด
มองความชัดเจนหนุน SET และมีความเสี่ยงนโยบายต่อตลาดทุนระยะกลางจะต่ำกว่ากรณีที่ 1 เช่นกัน ทำให้แกว่งขึ้นกรอบราว 1620-1680 จุด กลุ่มเคลื่อนไหวดีกว่าตลาด คือ หุ้นพลังงาน หุ้นสื่อสาร หุ้นรับเหมาฯ แต่อย่างไรก็ดี จะมีความเสี่ยงต่อการชุมนุมที่อาจจะเกิดขึ้นและมีความตึงเครียดกว่ากรณีที่ 2 ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อกลุ่มอิงการบริโภคภายในจนกว่าการชุมนุมจะสิ้นสุด จึงต้องระวังการลงทุนในหุ้นธนาคาร หุ้นค้าปลีก หุ้นนิคม หุ้นท่องเที่ยว

พิธา23

กรณีที่ 4 พิธาไม่เป็นนายกรัฐมนตรี เกิดการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ประเมินดัชนีหุ้นไทยที่ 1350-1460 จุด (Worst Case)
มองว่ากรณีนี้เลวร้ายที่สุด โดยจะกดดัน SET จากทั้งการขับเคลื่อนนโยบายที่ขาดเสถียรภาพ และมีความเสี่ยงเกิดการชุมนุมที่อาจจะมีความตึงเครียดมากที่สุดในทุกกรณี

ทั้งนี้ จะเห็นว่ากรณีดีที่สุดต่อตลาดหุ้นไทยที่นักลงทุนต้องการ นั่นคือเกิดการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทย กับ 8 พรรคร่วมปัจจุบัน (รวมก้าวไกลด้วย) เพราะจะมีทั้งสเถียรภาพทางการเมือง และการผลักดันนโยบายที่เอื้อต่อตลาดทุน

ส่วนกรณีเลวร้ายสุดที่ตลาดไม่อยากเห็นก็คือ การจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยผลักให้พรรคก้าวไกลและเพื่อไทยไปเป็นฝ่ายค้าน เนื่องจากจะตามมาด้วยแรงเสียดทานจากทุกด้าน

อย่างไรก็ตาม บล.กรุงศรี พัฒนสิน วิเคราะห์ภาพรวมว่า การเมืองใกล้ถึงจุดชัดเจน มองเป็นโอกาสสะสมหุ้นที่ปรับฐานลึก จากจิตวิทยาลบ เช่น GULF, BGRIM, CRC, BJC, CPAXT, THCOM, TRUE, PTTGC โดย Top Pick ที่เน้นให้สะสม คือ GULF, THCOM, PTTGC

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน