Stock

ส่องอาณาจักรธุรกิจอมตะ AMATA ในมือ ‘วิกรม กรมดิษฐ์’

ชื่อของ “วิกรม กรมดิษฐ์” ถูกหยิบมาพูดถึงในหน้าสื่ออีกครั้ง หลังงานฉลองครบรอบวันเกิด 70 ปี เขาได้ตัดสินใจยกทรัพย์สินส่วนตัวมูลค่า 20,000 ล้านบาทให้กับมูลนิธิอมตะ เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งคิดเป็น 95% ของทรัพย์สินส่วนตัวทั้งหมด โดยมีทั้งที่ดิน อาคารสิ่งก่อสร้าง หุ้น ตลอดจนของสะสมมีค่าต่าง ๆ

วิกรม กรมดิษฐ์ เป็นนักธุรกิจชื่อดังของประเทศไทย โดยเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจด้านนิคมอุตสาหกรรมทั้งในประเทศไทยและในประเทศเวียดนาม ปัจจุบันดำรงประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ ยังมีความสนใจถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตผ่านการเขียนหนังสือ จนเผยแพร่ไปแล้วกว่า 11.6 ล้านเล่ม

วิกรม กรมดิษฐ์

ความร่ำรวยของ วิกรม กรมดิษฐ์ เคยได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร Forbes ให้ติดอันดับ 40 มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในเมืองไทย ระหว่างปี 2549-2552 ส่วนมูลค่าการถือหุ้นนั้น พบว่าปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของ AMATA สัดส่วน 26.23% จำนวน 301,652,396 หุ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,696 ล้านบาท

ขณะเดียวกันยังถือหุ้นทางอ้อมผ่าน อมตะ คอร์ปอเรชัน ในบริษัทอื่นๆ อีกด้วย เช่น AMATAV และ AMATAR เป็นต้น

AMATA หุ้นนิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่

เมื่อพูดถึงผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ในประเทศไทย ต้องมี AMATA หรือ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) โดยก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2532 และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อปี 2540 ด้วยการมุ่งเน้นพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม และธุรกิจด้านสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการหลังการขาย ได้แก่ น้ำประปา กระแสไฟฟ้า และจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

นิคมอุตสาหกรรมอมตะในประเทศไทย มีด้วยกัน 2 แห่ง ประกอบด้วย อมตะซิตี้ ชลบุรี และ อมตะซิตี้ ระยอง โดยมีจุดเด่นคือทำเลยุทธศาสตร์ที่อยู่บริเวณเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งยังตั้งอยู่ใกล้ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นทำเลสำคัญอย่างยิ่งทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

AMATA ได้ขยายการลงทุนไปต่างประเทศ นำโดยเวียดนาม ด้วยการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท อมตะ วีเอ็น จำกัด (มหาชน) หรือ หุ้น AMATAV ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2558 ประกอบธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในเวียดนาม ได้แก่  Amata City Bien Hoa, Amata City Long Thanh และ Amata City Halong ถือว่าครอบคลุมทำเลยุทธศาสตร์ทั้งภาคเหนือและภาคใต้ของเวียดนาม พร้อมเน้นจุดเด่นของโครงการที่มุ่งเน้นมาตรฐานและความทันสมัย

วิกรม กรมดิษฐ์

นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในประเทศเมียนมา ได้แก่ Yangon Amata Smart & Eco City และในประเทศลาว 2 โครงการ ได้แก่ Amata Smart and Eco City Natuey แขวงน้ำทา และ Amata Smart and Eco City Namor แขวงอุดมไซ  

รายได้หลักของ AMATA มาจาก 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกเป็นรายได้จากการขายและให้เช่าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ประมาณ 58% อีกส่วนจะเป็นรายได้จากการให้บริการสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา การบำบัดน้ำเสีย ประมาณ 42% ซึ่งส่วนที่ 2 นี้ นับเป็น Recurring Income ที่ค่อนข้างมั่นคง รวมถึงช่วยลดทอนความเสี่ยงจากความผันผวนในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว

ทีนี้ลองมาดูรายได้และกำไรล่าสุดในปี 2565 AMATA มีรายได้รวม 8,138.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% จากปีก่อน และมีกำไร 2,341.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 67% จากปีก่อน เป็นผลจากธุรกิจพัฒนาที่ดินนิคมอุตสาหกรรมที่มีการโอน จำนวนทั้งสิ้น 616 ไร่ มากกว่าปี 2564 ที่มียอดโอน 587 ไร่ ขณะที่การให้บริการสาธารณูปโภค ก็เติบโตขึ้นตามการใช้บริการของลูกค้าที่ปรับตัวขึ้น 

วิกรม กรมดิษฐ์

ปิดท้ายด้วยภาพอนาคตของกลุ่มอมตะ วิกรม กล่าวว่า โครงการใหญ่ที่กำลังทำอยู่ คือการสร้างเมืองอัจฉริยะที่จะนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาพัฒนาเป็นเมืองใหม่ ซึ่งมีครบครันทั้งโรงเรียน โรงแรม โรงพยาบาล ระบบสาธารณสุขที่ดี ฯลฯ

สำหรับแนวทางต่อไปตนเองจะถอยจากการเป็น Operator มาเป็น Advisor และเติมเสริมมืออาชีพมาช่วยทำงานตรงนี้แทน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน