อมตะ หวั่นการเมืองพม่า กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ จับตาสถานการณ์ใกล้ชิด พร้อมชะลอการลงทุนพัฒนาเมืองอัจฉริยะอมตะย่างกุ้ง
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะคอร์ปเรชัน จำกัด (มหาชน) (AMATA) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่เกิดขึ้นในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ประกอบกับการแพร่ระบาดโควิด 19 ที่เกิดขึ้น ยอมรับว่า อาจทำให้แผนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของอมตะล่าช้าออกไป
นอกจากนี้ ยังอาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของกลุ่มลูกค้า ที่อยู่ระหว่างการเจรจาเข้ามาลงทุนในพื้นที่ ประมาณ 20 ราย ที่มีทั้งญี่ปุ่น และ ยุโรป ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ 100%
ดังนั้น อมตะจะมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีโครงการอยู่ระหว่างเข้าไปพัฒนา เมืองอัจฉริยะอมตะย่างกุ้ง (Yangon Amata Smart & Eco City, YASEC) หลังจากได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลเมียนมา ในการประกอบกิจการนิคมอุตสาหกรรม ในพื้นที่เมืองย่างกุ้ง บนพื้นที่ประมาณ 2,000 เอเคอร์ หรือ ประมาณ 5,000 ไร่
ปัจจุบันโครงการดังกล่าว ได้มีการพัฒนาพื้นที่ในระยะแรกแล้ว โดยใช้งบลงทุนประมาณ 140 ล้านบาท ประมาณ 200 เอเคอร์ หรือ ประมาณ 500 ไร่ ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติโดยส่วนใหญ่ กังวลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ของรัฐบาลในเมียนมา โดยเฉพาะกลุ่มยุโรป และประเทศอเมริกา เนื่องจากกลุ่มประเทศเหล่านี้ มักจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายการแทรกแซงทางการเมือง ดังนั้นจึงอาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศเมียนมาในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม คงต้องรอความชัดเจนนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเมียนมาต่อไป
ขณะที่ อมตะเอง ได้เตรียมแผนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หากเกิดกรณีที่นักลงทุนยังไม่ตัดสินใจเข้ามา จึงจำเป็นต้องเลื่อนการพัฒนาลงทุน ในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งระบบไฟฟ้าและระบบน้ำ แต่เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ ก็คงเดินหน้าพัฒนาโครงการดังกล่าวต่อไป
สำหรับแผนการพัฒนานิคมฯ ในเมียนมา เป็นการขยายพื้นที่ เพื่อรองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้น ในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงาน ถือเป็นพื้นที่มีศักยภาพที่มีความพร้อม ในการสร้างความได้เปรียบทางการค้า เนื่องจากเป็นประเทศที่เปิดใหม่ มีต้นทุนค่าแรงที่ต่ำ
ขณะเดียวกัน นักลงทุนที่เข้ามาลงทุน จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งออก ดังนั้นหากรัฐบาลเมียนมา ใช้หลักการในระบอบประชาธิปไตย ก็จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับ นักลงทุนและต่างประเทศได้
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘กองทัพเมียนมา’ เดินหน้า ‘ปรับ ครม.’ ครั้งใหญ่ เปลี่ยนตัวมุขมนตรี
- หนีรัฐประหาร! ‘ซูซูกิ’ สั่งปิด 2 โรงงานผลิตเมียนมา ไร้กำหนดเปิด
- ‘นายกฯ’ ขออย่านำกรณี ‘เมียนมา’ มาขยายเป็นความขัดแย้งในประเทศ