Stock

วัดผลงาน ‘AIS – TRUE- DTAC’ ก่อนควบรวม

วัดผลงาน AIS TRUE และ DTAC ก่อนควบรวม ย้อยดูผลการดำเนินงานปี 2565 ของ 3 ผู้เล่นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย

ปี 2565 ที่ผ่านมา เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของผู้ประกอบธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทย ซึ่งมาพร้อมกับการแข่งขันอันดุเดือด เพราะถือเป็นโค้งสุดท้ายก่อนที่ผู้เล่นเบอร์ 2 และเบอร์ 3 อย่าง TRUE และ DTAC จะปิดดีลการควบรวมกิจการเกิดเป็นบริษัทใหม่ เพื่อเข้ามาเขย่าบัลลังก์ของ AIS ที่เป็นเจ้าตลาดมาอย่างยาวนาน

ควบรวม

ดังนั้น เราจึงได้สรุปภาพรวมผลการดำเนินงานของปี 2565 ของ 3 ผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยมาเปรียบเทียบให้เห็นกันแบบชัดๆ ในบทความนี้

ผลการดำเนินงาน 3 บริษัท@300x 100

สำหรับ AIS บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ หุ้น ADVANC แม้จะเผชิญความท้ายทายรอบด้าน ทั้งต้นทุนจากราคาพลังงาน เงินเฟ้อ และค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่สูงขึ้น แต่ยังสามารถทำรายได้รวม 185,485 ล้านบาท เติบโต 2.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิลดลง 3.4% เป็น 26,011 ล้านบาท พร้อมจ่ายเงินปันผลเพิ่มอีก 4.24 บาทต่อหุ้น

ควบรวม

กลุ่มธุรกิจที่หนุนการเติบโตให้กับ AIS มาจากธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง AIS Fibre ที่มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 19% เติบโตเหนืออุตสาหกรรม และมีจำนวนลูกค้ารวมทั้งสิ้น 2.2 ล้านราย ครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 16% อีกกลุ่มคือธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร ซึ่งสร้างการเติบโตได้ถึง 26% จากปีก่อน ด้วยความพร้อมเต็มรูปแบบของ Intelligent Network, Cloud Platforms และ Cyber Security

ด้านธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่  เป็นฐานรายได้หลักของ AIS ปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถือรวม 46 ล้านเลขหมาย รักษาส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 โดยเฉพาะในส่วนของการให้บริการ 5G ที่วันนี้มีลูกค้าอยู่ที่ 6.8 ล้านราย เติบโตก้าวกระโดดจาก 2.2 ล้านราย ในปี 2564

มากันที่ฝั่ง TRUE หรือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถือเป็นปีที่รายได้และกำไรปรับตัวลดลง โดยมีรายได้รวม 135,076 ล้านบาท ลดลง 6% จากปีก่อน และมีผลขาดทุนสุทธิ 18,285 ล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน และค่าใช้จ่ายพิเศษ

ประกอบกับรายได้ที่ปรับลดลงในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะ TrueMove H เนื่องจากการแข่งขันในตลาดที่สูง กดดันรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการ (ARPU) ลดลง เช่นเดียวกับบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตของ TrueOnline ที่รายได้หดตัว แม้ฐานลูกค้ายังคงเติบโต ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ 4.97 ล้านราย ครองส่วนแบ่งมากที่สุดในตลาด

ควบรวม

 

ในส่วนของ DTAC หรือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) รายได้รวม 80,600 ล้านบาท ลดลง 0.9% จากปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 3,119 ล้านบาท ลดลง 7.1% จากปีก่อน เนื่องจากการลดลงของรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย เพราะการแข่งขันที่เข้มข้น โดย ณ สิ้นปี 2565 DTAC มีจำนวนผู้ใช้บริการเท่ากับ 21.2 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้น 1.6 ล้านเลขหมายจากปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากลูกค้าระบบเติมเงิน

ทั้งนี้ การควบรวมระหว่าง ทรู คอร์ปอเรชั่น กับ โทเทิล แอคเซส เป็นบริษัทใหม่ที่ชื่อ ทรู คอร์ปอเรชั่น ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งห้ามการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ (SP) ของบริษัททั้ง 2 แห่งเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2566 เพื่อเตรียมการจัดสรรหุ้นสามัญของบริษัทใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ DTAC และ TRUE และการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการนำหุ้นสามัญของบริษัทใหม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ดังนั้น TRUE บริษัทใหม่ คาดว่าจะเริ่มกลับมาซื้อขายในวันที่ 3 มีนาคม 2566 โดยมุมมองของ บลจ.กสิกรไทย (KAsset) วิเคราะห์ว่าบริษัทใหม่หลังการควบรวมจะได้ประโยชน์จากแผนการทำงานร่วมกัน (Synergy) ทั้งด้านการลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ไม่เร็ว ประกอบกับราคาหุ้น DTAC และ TRUE ในปัจจุบัน ได้สะท้อนมูลค่า Synergy ไปบางส่วนแล้ว ทำให้ upside น่าจะมีจำกัด

เพราะฉะนั้น เรียกว่าเวลานี้ก็ใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว สำหรับความเปลี่ยนแปลงมหาศาลในวงการสื่อสารโทรคมนาคมไทย ซึ่งจะเหลือบริษัทเอกชนผู้ให้บริการเพียง 2 รายยักษ์ใหญ่เท่านั้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน