Technology

ควบรวม ทรู-ดีแทค มหากาพย์ดีลแสนล้าน ยืดเยื้อกว่า 1 ปี สุดท้ายใครได้-ใครเสีย

ผ่านพ้นไปกว่า 1 ปีสำหรับการเดินหน้าควบรวม ทรู-ดีแทค ซึ่งถือว่าเป็นดีลแสนล้าน ที่สร้างความสะท้านสะเทือนในทุกวงการ ตั้งแต่วงการธุรกิจ การเมือง ไปจนถึงผู้บริโภค

นับแต่เริ่มเปิดดีลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 จนถึงวันนี้กับเวลา 1 ปีกว่า การควบรวมกิจการระหว่างยักษ์เบอร์ 2 อย่างทรู กับเบอร์ 3 ดีแทค ยังไม่สะเด็ดน้ำ โดยเฉพาะประเด็นที่ต้องพิจารณากันอย่างหนักว่า ผู้ให้บริการ 3 รายใหญ่ในตลาด หากลดลงเหลือเพียง 2 ราย จะส่งผลเสียต่อผู้บริโภคมากกว่าผลดี

ควบรวม ทรู-ดีแทค

ที่ผ่านมา ดีลแสนล้านทรู-ดีแทค นับว่าต้องฝ่าฟันหลายด่าน ทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม การตีความทางกฏหมายว่าอาจเข้าข่ายการผูกขาดตลาด ไปจนถึงกฏหมายด้านโทรคมนาคม

จุดเริ่มต้นดีลควบรวม ทรู-ดีแทค

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จํากัด ผู้ถือหุ้นของ ทรู กับบริษัท เทเลนอร์ เอเชีย ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ได้ร่วมกันตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา คือ บริษัท ซิทริน โกลบอล จํากัด เพื่อซื้อหุ้นทั้งหมดของ ทรูและดีแทค เมื่อพฤศจิกายน 2564

จากนั้น กลุ่มเทเลนอร์ และ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ประกาศเจตนาการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดโดยสมัครใจเพื่อรับซื้อหลักทรัพย์ของทรู และดีแทค ตามหลักเกณฑ์การทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ต่อมา ทรูและดีแทค ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ว่า บริษัทที่กลุ่มเทเลนอร์ และ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกันเป็นเจ้าของ คือ บริษัท ซิทริน โกลบอล จำกัด และ Citrine Venture SG Pte. Ltd ได้ปฏิเสธการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดโดยสมัครใจ (Voluntary Tender Offer หรือ VTO) ต่อผู้ถือหุ้น ทรู และดีแทค ตามกฎหมาย

ทรู

เงื่อนไขสำคัญของดีลสะท้านวงการครั้งนี้ คือ มติของบอร์ด กสทช. ที่เคาะสรุปรับทราบผลการควบรวมกันระหว่างทรู และดีแทค เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 พร้อมออกมาตรการเงื่อนไขกำกับดูแล หรือเรียกว่ามาตรการเฉพาะ ได้แก่

  • เงื่อนไขเกี่ยวกับอัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการ
  • เงื่อนไขเกี่ยวกับการเข้าสู่ตลาด การขาดประสิทธิภาพการแข่งขัน และการสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย
  • เงื่อนไขเกี่ยวกับการรักษาคุณภาพบริการ
  • เงื่อนไขการถือครองความถี่ และการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน
  • เงื่อนไขด้านเศรษฐกิจประเทศ นวัตกรรมและความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

ที่สำคัญที่สุดคือ การห้ามไม่ให้เกิดการควบรวมคลื่นความถี่ ที่ทั้งสองบริษัทถือครองอยู่เด็ดขาด เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดให้ประชาชน

ล่าสุด ทั้ง ทรูและดีแทต อยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณาสรุปกระบวนการที่จำเป็นต่อการดำเนินการควบรวมกิจการ และยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/66

shutterstock 2193752139

ดังนั้น จึงต้องจับตามองต่อไปว่า ภายใต้เงื่อนไขห้ามควบรวมคลื่นความถี่  ทรูและดีแทคจะดำเนินธุรกิจให้บริการสัญญาณเครือข่ายมือถืออย่างไร เพื่อให้การควบรวมครั้งนี้เกิดประโยชน์มากที่สุด ภายใต้การจับตามองของสังคมต่อไปว่า จะทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างไร

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวิร์ค จำกัด หรือเอไอเอส ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด รองลงมาคือ ทรู ตามด้วย ดีแทต

หากรวมเอไอเอส ทรู และดีแทค พบว่ามีส่วนแบ่งตลาดรวมสูงถึง 97% และหากการควบรวมกิจการระหว่าง ทรูกับดีแทค สำเร็จ จะทำให้เหลือผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เหลือเพียง 2 บริษัทใหญ่ เพราะส่วนแบ่งตลาดที่เหลือ 3% เป็นของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือว่าแทบไม่มีผลต่อการแข่งขัน

ที่แน่ ๆ คือ ดีลนี้ต้องได้บทสรุปแน่นอนในปี 2566 เพราะการลากยาวยืดเยื้อ ย่อมไม่ส่งผลดีต่อทั้งทรูและดีแทคแน่นอน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo