สรรพสามิต ช่วยภาคอุตสาหกรรม-สถานบริการ พื้นที่น้ำท่วม ขยายเวลายื่นแบบ-ชำระภาษี-ขยายเวลายื่นงบเดือน
ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมประเทศไทย รวมถึงพายุโนรู (NORU) ทำให้มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จนเกิดอุทกภัยเป็นวงกว้าง
โดยมีพื้นที่ประสบสาธารณภัยอย่างน้อย 26 จังหวัดทั่วประเทศในขณะนี้ ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรม และผู้ประกอบกิจการสถานบริการที่อยู่ในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย บางรายจำเป็นต้องหยุดกิจการเป็นการชั่วคราว
ขยายเวลายื่นแบบ–ชำระภาษี ขยายเวลายื่นงบเดือน
ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบ ให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรม และผู้ประกอบกิจการสถานบริการดังกล่าว กรมสรรพสามิตจึงได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือ ด้วยการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการภาษีและการชำระภาษี รวมถึงการยื่นงบเดือน
โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการภาษีและชำระภาษี ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้ประกอบกิจการสถานบริการที่โรงอุตสาหกรรมคลังสินค้าทัณฑ์บน หรือสถานบริการแล้วแต่กรณี ตั้งอยู่ในจังหวัดที่มีการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย (อุทกภัย) ในช่วงตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2565 ถึงวันที่31 ตุลาคม 2565 สำหรับกรณีที่จะต้องยื่นแบบรายการภาษีและชำระภาษีตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ออกไปเป็นภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565
- ขยายกำหนดเวลาการยื่นงบเดือน ตามมาตรา 118 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้ประกอบกิจการสถานบริการที่โรงอุตสาหกรรมคลังสินค้าทัณฑ์บน หรือสถานบริการแล้วแต่กรณี ตั้งอยู่ในจังหวัดที่มีการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย (อุทกภัย)ที่ต้องยื่นงบเดือนภายในเดือนตุลาคม 2565 ออกไปเป็นภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565
ดร. เอกนิติ กล่าวว่า การดำเนินมาตรการดังกล่าวนี้ กรมสรรพสามิตมุ่งหวังที่จะช่วยบรรเทาภาระและความเดือดร้อน ให้กับผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้ประกอบกิจการสถานบริการ ที่ได้รับผลกระทบที่ประสบอุทกภัยในครั้งนี้
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- กรมการข้าว ‘เยียวยาชาวนา’ ไร่ละ 1,340 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่
- ‘บิ๊กตู่’ เตรียมไว้แล้ว 2.3 หมื่นล้าน ‘งบเยียวยาน้ำท่วม’ สั่งการสำรวจความเสียหายทันที หลังน้ำลด
- เยียวยาน้ำท่วม เช็กด่วน!! จ่ายครอบครัวละ 3,000 บาท 2 ล้านครัวเรือน