Finance

‘อนุสรณ์’ จี้ กลต.ตรวจสอบ ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ ชี้ กรณี ‘Zipmex’ ส่งผลกระทบตลาดโดยรวม

“อนุสรณ์” ชี้ กรณี “Zipmex” กระทบตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยโดยรวม  จี้ กลต. ตรวจสอบแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทฯ ดูว่าสินทรัพย์ของลูกค้าอยู่ครบหรือไม่ ป้องกันยักย้ายเอาไปลงทุนต่อที่อื่น ย้ำต้องออกมาตรการกำกับดูแลให้ครอบคลุมทุกประเภท 

วันนี้ (24 ก.ค.) รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และอดีตกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึง กรณี การประกาศระงับการถอนเงินของนักลงทุนของ ซิปเม็กซ์ (Zipmex) และผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องของธุรกิจซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่า กรณีดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยโดยรวม ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล และอาจลามถึงฟินเทคสตาร์อัพทั้งหลาย จึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาความเสียหายของนักลงทุน กำกับดูแลตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลให้ดีขึ้น

Zipmex

จับตาผลกระทบ Zipmex ต่อตตลาดซื้อขายสินทรัพย์

แน่นอนว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้น มาจากอุตสาหกรรมสินทรัพย์การลงทุนดิจิทัลโลกฟองสบู่แตก และเข้าสู่ภาวะขาลง ภาวะดังกล่าวจะยังคงดำรงอยู่อย่างยาวนานจนกว่ากลไกราคาจะปรับสมดุลได้ การขายกิจการ และการเปลี่ยนเจ้าของและผู้ถือหุ้น จะเกิดเพิ่มขึ้นพร้อมกับการลดขนาดองค์กร และปลดคนออกจากงาน

ตอนนี้ อาจต้องจับตาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น กับตลาดซื้อขายสินทรัพย์ การลงทุนดิจิทัลขนาดใหญ่อย่าง ไบแนนซ์ (Binance) เนื่องจากเป็นบริษัท ที่มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยเข้าร่วมลงทุนอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ความเสียหายในระดับพันล้านบาท ยังไม่ส่งผลรุนแรงต่อตลาดการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินโดยรวม ขณะเดียวกัน เม็ดเงินจำนวนหนึ่งที่เคยลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล น่าจะไหลมาลงทุนในตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ ซึ่งมีความน่าเชื่อถือมากกว่า ความเสี่ยงต่ำกว่าแทน โดยเฉพาะในยุคอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

กรณี ซิปเม็กซ์ น่าจะเป็นเพียงสัญญาณแรก อันเป็นผลจากปฏิกิริยาลูกโซ่จากการร่วงลงอย่างแรกของคริปโตเคอร์เรนซี ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้บริษัทซื้อขายคริปโตฯ จำนวนหนึ่งล้มละลาย ปิดกิจการ และขาดสภาพคล่อง

อย่างกรณีของ บาเบล ไฟแนนซ์ และ เซลเซียส เน็ตเวิร์ก สองบริษัทล้มละลาย และขาดสภาพคล่อง จึงส่งผลกระทบต่อ ซิปเม็กซ์ โกลบอล (Zipmex Global) และคาดว่า กรณี ซิปเม็กซ์ จะส่งผลกระทบต่อดีลการซื้อบิทคับ (Bitkub) ของ SCBx

นอกจากนี้ มีบริษัทจดทะเบียนเพียง 3 แห่งเท่านั้น ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการลงทุนในซิปเม็กซ์ คือ บริษัท แพลน บี มีเดีย (70 ล้านบาท) บริษัท มาสเตอร์แอด (197 ล้านบาท) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (1% ของทุนจดทะเบียนซิปเม็กซ์)

อย่างไรก็ดี ตลาดคริปโตฯ จะเข้าสู่ภาวะขาลง แต่ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ดิจิทัลในหลายประเทศ รวมทั้งไทย ก็ยังมีโอกาสกลับมาเติบโตได้อีกในอนาคต อาจเป็นอนาคตที่ตั้งรอกันยาวอย่างน้อย 2-3 ปี

Zipmex

รศ.ดร.อนุสรณ์ บอกด้วยว่า สิ่งที่ทางการ (กลต.) ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ การไปตรวจสอบ บริษัทที่ทำการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละแห่งว่า ยังคงมีสินทรัพย์ประเภทนี้อยู่ครบหรือไม่ มีการยักย้ายถ่ายเทไปที่ไหนหรือไม่ หรือ เอาไปลงทุนต่อ หรือไปฝากเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ไหนหรือไม่ การดำเนินการดังกล่าวได้รับความยินยอมจากนักลงทุน ผู้เป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านั้นหรือไม่

ตามเงื่อนไขของ กลต. นั้น มีความชัดเจนอยู่แล้วว่า ห้ามนำเงินลงทุน หรือทรัพย์สินของลูกค้าไปหาประโยชน์อื่น แนวทางกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล อาจต้องมีการปรับและตอบสนองต่อนวัตกรรมการลงทุนของสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น เพื่อคุ้มครองนักลงทุน เพื่อธุรกิจสามารถระดมทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย เพื่อการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมดังกล่าว

สินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งมีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ คือ คริปโตเคอร์เรนซี และ โทเคนดิจิทัล (Digital Token) ที่แบ่งย่อยออกเป็น Investment Token ให้สิทธิในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ และ Utility Token ให้สิทธิแก่ผู้ถือ ในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการ การออกมาตรการกำกับต้องแตกต่างกัน และต้องครอบคลุมสินทรัพย์ดิจิทัลทุกลักษณะ และต่อไปก็จะมีพัฒนาให้ซับซ้อนขึ้นไปอีก

หากไม่ครอบคลุมดีพอ อาจมีคนใช้ช่องโหว่ของระบบการกำกับดูแลและกฎหมาย หาประโยชน์อย่างไม่ชอบธรรม เอาเปรียบนักลงทุน หรือแม้กระทั่งฉ้อโกงประชาชนได้

ขอเสนอให้ กลต. และ ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องออกแนวทางและมาตรการในการกำกับดูแลการออกเสนอขายคริปโตเคอร์เรนซี การทำ Crypto Mining การให้กู้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัล (Crypto Lending) การทำ Custodian และ การทำ Wallet Provider ต้องปฏิรูปหน่วยงานกำกับตลาดการเงิน กฎหมายว่าด้วยตลาดการเงิน ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลและการลงทุน ต้องให้เท่าทันต่อเทคโนโลยี และกลโกง หรือการเอาเปรียบนักลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย

รศ.ดร.อนุสรณ์ ชี้ว่า การฉ้อโกงเงินลงทุนในแวดวงคริปโตเคอร์เรนซีนั้น มีหลากหลายวิธี และรูปแบบ วิธีหนึ่งที่ใช้กัน คือ การเข้ามาเจาะระบบโดยแฮกเกอร์ เป็นการแฮกเข้ามาในระบบการเงินแบบกระจายศูนย์หรือ DeFi ที่แม้ทำได้ยาก แต่ก็ทำให้เกิดการสูญเสียเม็ดเงินของนักลงทุนไปแล้วในระดับ 1,000 ล้านดอลลาร์

เราสามารถแบ่งรูปแบบของวิธีการฉ้อโกงทางการเงินได้หลายรูปแบบ ดังนี้

รูปแบบแรก เรียกว่า Pumps and Dumps ซื้อเหรียญมาเก็บไว้ เก็งกำไร และปั่นราคาให้ขึ้นไปสูง หลอกล่อให้คนไปซื้อ และเทขายออกมา

รูปแบบที่สอง NFT Scams ใช้ววิธีสร้างเว็บไซต์ปลอม ที่มีหน้าตาเหมือนเว็บไซค์ทางการขึ้นมา แล้วพยายามหลอกล่อผู้ใช้งานให้ล็อกอิน เพื่อเอาข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลการลงทุน จนกระทั่งบัตรเครดิต เป็นวิธีที่แฮกเกอร์ใช้กับเว็บไซต์ขายของออนไลน์ รวมทั้งขาย NFT

วิธีการนี้เรียกว่า ทำ Replica Store หรือ แฮกเกอร์อาจใช้วิธีหลอกคนที่สนใจใน NFT ของใครเป็นพิเศษ แล้วส่งลิงก์เสนอขายเหรียญคริปโตฯ หรือ อาจใช้วิธีสร้างชุมชนเพื่อเลียนแบบ Official Brand

Zipmex

รูปแบบที่สาม DeFi Rug Pulls เป็นรูปแบบการโกง โดยหลอกล่อให้นำเงินมาลงทุนในแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล จากนั้นก็เอาเงินโอนออกไปจนหมด โดยตรวจสอบ หรือติดตามไม่ได้ว่า สุดท้ายเงินที่หายไปนั้นไปอยู่ที่ไหน

รูปแบบที่สี่ Fake ICOs มักใช้บริษัทขนาดเล็ก หรือสตาร์ทอัพระดมทุน โดยแจ้งว่าจะนำเงินลงทุนไปพัฒนาธุรกิจ สร้างสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ และมีการออกเหรียญให้นักลงทุนผู้สนใจ

หากนักลงทุนสนใจก็ซื้อเหรียญ ICOs ด้วยการจ่ายเหรียญคริปโตฯ แต่ไม่ได้เป็นการระดมทุนเพื่อไปลงทุนโครงการต่าง ๆ จริง

รูปแบบที่ห้า Malware เจาะเข้าระบบแล้วโอนเงินออกจาก Wallet จนหมดโดยไม่สามารถติดตามเส้นทางการโอนเงินได้ว่าไปไหน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo