Finance

‘กนง.-กนส.’ มองเศรษฐกิจไทย ต้องระวัง ‘หนี้ครัวเรือน-ความเสี่ยงภาคการเงิน’

“ธปท.” เปิดผลประชุมร่วม “กนง.-กนส.” มองระบบการเงินไทยยังมีเสถียรภาพ แบงก์พาณิชย์มีเงินสำรอง และสภาพคล่องในระดับสูง รองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคตได้ แต่ยังต้องระวังหนี้ครัวเรือน และความเสี่ยงต่าง ๆ ในภาคการเงิน

วันนี้ (13 ธ.ค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการประชุมร่วมกันระหว่าง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และ คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา

ที่ประชุมเห็นว่า ระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) มีเงินกองทุนเงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนความต้องการสินเชื่อ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

shutterstock 1721204188

ธุรกิจประกันภัย ยังมีฐานะการเงินมั่นคง โดยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำกัดอยู่เฉพาะบางบริษัท ที่ขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ-จ่าย-จบ ซึ่งได้มีมาตรการดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินแล้ว ขณะที่ตลาดการเงินมีเสถียรภาพและสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ

ในช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแล ได้ออกมาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน ช่วยเหลือภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดย ธปท. ได้ออก มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ เพิ่มเติม อาทิ มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระยะยาวอย่างยั่งยืน มาตรการรวมสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อรายย่อยอื่น ๆ ข้ามธนาคาร (debt consolidation)

มาตรการผ่อนเกณฑ์วงเงิน ระยะเวลากู้ และลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้  ซึ่งสามารถบรรเทาภาระในการชำระหนี้ และเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ครัวเรือน และ SMEs

ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับ และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ออกมาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบ ต่อผู้เอาประกันภัยสำหรับกรมธรรม์โควิด-19 แบบเจอ-จ่าย-จบ และออกมาตรการผ่อนผันหลักเกณฑ์ ด้านเงินกองทุน และสภาพคล่อง เพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้บริษัทประกันภัย โดยลดภาระด้านการดำรงเงินกองทุนและสำรองประกันภัยอันเกิดจากการรับประกันภัยโควิด-19 รวมถึง เพิ่มทางเลือกในการจัดหาแหล่งเงินทุน และเสริมสภาพคล่อง

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกมาตรการเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีทางเลือกในการระดมทุนมากขึ้น โดยออกหลักเกณฑ์กองทุนรวม ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง (high yield bond fund) กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ ที่มีปัญหาชำระหนี้คืน (stressed bond fund) และกองทรัสต์ที่มีข้อกำหนดขายคืน (REIT buy-back)

shutterstock 1780279775

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความไม่แน่นอนของการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ และผลกระทบที่อาจมีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ที่ประชุมเห็นว่า ยังจำเป็นต้องผลักดันให้มาตรการเป็นไปตามเป้าประสงค์ พร้อมกับประเมินความเพียงพอของมาตรการ ควบคู่กับบริบทการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความรุนแรงของสายพันธุ์โอไมครอน ประสิทธิภาพของวัคซีน และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงกรณีเลวร้ายที่ต้องกลับไปล็อกดาวน์

นอกจากการประคับประคอง การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่ให้สะดุดแล้ว ที่ประชุมเห็นควร เตรียมความพร้อมด้านมาตรการ และเครื่องมือในการรองรับความเสี่ยง ที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะปานกลาง (2-3 ปี) ซึ่งจำเป็นต้องมีการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล

ที่ประชุม ให้น้ำหนักกับการดูแลความเสี่ยงสำคัญที่มีนัยต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยในอีก 2 ประเด็น ดังนี้

  • หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อของสถาบันการเงิน (สง.) และเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป ควรเร่งผลักดันมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ที่มีภาระหนี้สูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลักดันให้ สง. เร่งปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน แก่ลูกหนี้รายย่อยที่มีศักยภาพ แต่มีภาระหนี้สูงให้เป็นไปตามเป้าประสงค์

เตรียมความพร้อมมาตรการชะลอ การก่อหนี้ใหม่ในด้านการกำกับดูแลที่เป็นมาตรฐานเดียวกันระหว่างผู้ให้บริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ทำควบคู่กับการฟื้นฟูรายได้และให้ความรู้ทางด้านการเงินแก่ประชาชน เพื่อให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น และภาคครัวเรือนสามารถหลุดพ้นจากกับดักหนี้ได้ในที่สุด

Info graphic Joint H264

  • ความเสี่ยงที่ส่งผ่าน ระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในระบบการเงิน

เช่น ความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งส่งผลกระทบต่อนักลงทุนโดยทั่วไป สหกรณ์ออมทรัพย์ หรือกองทุนรวม และส่งผลต่อต้นทุนการระดมทุนของภาคธุรกิจ ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในการเตรียมความพร้อมมาตรการ เครื่องมือรองรับ และยกระดับเกณฑ์การกำกับดูแลในช่วงเวลาที่สอดรับกัน เช่น การมีมาตรการดูแลความเสี่ยงของบริษัทขนาดใหญ่ ที่ระดมทุนผ่านทั้งช่องทางสินเชื่อ และการออกตราสารหนี้

พร้อมกับการมีเกณฑ์กำกับดูแล เพื่อลดการกระจุกตัวของการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมถึงการมีเกณฑ์ เพื่อดูแลความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ของกองทุนรวม ที่เข้มงวดขึ้น เพื่อจำกัดการส่งผ่านความเสี่ยง และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบการเงิน รองรับการเปลี่ยนแปลง และความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

มติที่ประชุมเห็นควรให้ หน่วยงานกำกับดูแลทั้ง ธปท. ก.ล.ต. และ คปภ. ร่วมกันติดตามความเสี่ยงเฉพาะหน้าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลของการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ตลอดจนประเมินความเพียงพอ และประสิทธิผลของมาตรการที่ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงเตรียมความพร้อมด้านมาตรการ และเครื่องมือในการรองรับความเสี่ยงระยะปานกลางที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะมาตรการที่ต้องมีการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo