Finance

สู่สังคมไร้เงินสด! ธปท. ออกนโยบาย ‘KYM’ บังคับใช้ปี 65 สั่งสถาบันการเงินติดตามความเสี่ยงร้านค้า

ไทยเตรียมพร้อมสู่ “สังคมไร้เงินสด-เงินดิจิทัล” ธปท. ออกแนวปฏิบัติ “KYM” ให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบการธุรกิจการเงิน ติดตามความเสี่ยงกว่า 8.1 ล้านร้านค้า สร้างความเชื่อการชำระเงินผ่านเครื่องรับบัตรเครดิต/เดบิด (EDC) และ QR Code เริ่มบังคับใช้ 1 มกราคม 2565

ปัจจุบัน พฤติกรรมของผู้บริโภค และร้านค้าออนไลน์ จำนวนมาก มีการชำระค่าสินค้าและบริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) และการให้บริการชำระผ่าน QR Code ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้มีใช้การชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ เป็นช่องทางทุจริต ฟอกเงินหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ที่อาจส่งผลเสียหายต่อลูกค้าได้

สังคมไร้เงินสด

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้ประกาศแนวนโยบายการรู้จักและการบริหารติดตามความเสี่ยงร้านค้า สำหรับการชำระเงิน ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (Know Your Merchant : KYM) เพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจชำระเงิน ใช้เป็นแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำในการรู้จัก และบริหารติดตามความเสี่ยงร้านค้า โดยจะเริ่มบังคับใช้ 1 มกราคม 2565

แนวนโยบาย KYM เพี่อให้ผู้ประกอบธุรกิจชำระเงินใช้เป็นแนวปฏิบัติขั้นต่ำ ในการกำหนดกระบวนการรู้จักและการบริหารติดตามความเสี่ยงร้านค้า เตรียมพร้อมสู่สังคมไร้เงินสด

  • จัดให้มีการประเมิน และจัดระดับความเสี่ยงร้านค้า ตามรูปแบบลักษณะ และประเภทธุรกิจ

โดยคำนึงถึงปัจจัยความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตฟอกเงิน และการสนับสนุนทางการเงิน แก่การก่อการร้ายตามกฏหมาย ว่าด้วยการป้องกันและการปราบปรามการฟอกเงินเป็นขั้นต่ำ

  • กำหนดนโยบายการรู้จักร้านค้า การบริหารความเสี่ยง กระบวนการควบคุมภายใน การติดตามตรวจสอบ และทบทวนความเสี่ยง ที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของร้านค้า

โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัท และจัดให้มีการทบทวน และปรับปรุงนโยบายมาตรการการบริหารความเสี่ยง กระบวนการควบคุมภายใน และติดตามตรวจสอบความเสี่ยง และปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

สังคมไร้เงินสด

ปัจจุบัน ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม มีร้านค้าที่ติดตั้งเครื่องรับบัตรเครดิต/เดบิต (EDC) ทั้งหมด 900,000 เครื่อง และร้านค้าที่รับชำระ ผ่าน QR Code จำนวน 7.2 ล้านราย รวมร้านค้าทั้งหมดราว 8.1 ล้านราย ที่จะอยู่ในกระบวนการที่จะถูกตรวจสอบข้อมูล และประเมินความเสี่ยง

ธปท. จะมีการแบ่งประเภทความเสี่ยงของร้านค้า อาทิ ร้านค้าทั่วไป ร้านค้าที่มีความเสี่ยงสูง ร้านค้าที่เข้าข่ายลักษณะต้องห้าม เป็นต้น ซึ่งจะมีการ ติดตามข้อมูลและขึ้น บัญชีร้านค้า Watch list อีกด้วย

นางสาวรัชดา  ระบุว่า ปัจจุบัน รูปแบบการใช้จ่ายเงินของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ประกอบกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เป็นปัจจัยสนับสนุนรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ คนไทยหันมาใช้ e-Payments ในการชำระเงินมากขึ้น เช่น การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบ Mobile Banking / Internet Banking / QR code การใช้บัตรเครดิต การใช้บริการระบบพร้อมเพย์ (Prompt Pay) เป็นต้น

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงให้ความสำคัญ ในการเตรียมความพร้อมสู่การเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) และการใช้เงินดิจิทัล สร้างประสบการณ์การเงินดิจิทัล ผ่านมาตรการรัฐ อาทิ คนละครึ่ง เราชนะ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ก็ให้ความสำคัญในการดูแลระบบการเงินไทย มีความมั่นคงและปลอดภัย ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาภาคการเงิน ที่นอกจากจะมีความปลอดภัยแล้ว ยังกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย และเสริมสร้างความแข็งแรงให้เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo