Finance

ฟันธงพรุ่งนี้ กนง.คงดอกเบี้ยที่ 0.50% หนุนเศรษฐกิจฟื้นตัวจากโควิด-19

กนง.ประชุมวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ คาดว่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ตามเดิม เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 18 พ.ย.นี้ จะยังคงดอกเบี้ย เนื่องจากยังคงนโยบายผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยมีปัจจัย ดังนี้ 

ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยข้อมูลจีดีพีประจำไตรมาสที่ 3/2563 หดตัวลง 6.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ดีขึ้นจากที่หดตัวลง 12.1% ในไตรมาสที่ 2/2563 ขณะที่หลังปรับปัจจัยฤดูกาลออก เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2563 พลิกกลับมาขยายตัว 6.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นสัญญาณที่ตอกย้ำว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤตโควิด-19 มาแล้ว และเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับแนวโน้มที่ธปท. ประเมินไว้

ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า กนง. จะยังไม่พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินเพิ่มเติมในการประชุมรอบนี้ แต่จะเร่งเดินหน้ามาตรการอื่นที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพื่อให้การแก้ปัญหาตรงจุดและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม

มาตรการด้านการเงินและมาตรการด้านสินเชื่อจะยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ และช่วยเสริมกลไกการทำงานของมาตรการกระตุ้นด้านการคลังได้ โดยธปท. ได้ขยายเวลาสำหรับโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ออกไปอีก 6 เดือน และปรับเงื่อนไขคุณสมบัติของธุรกิจที่ขอรับสินเชื่อให้ครอบคลุมความช่วยเหลือไปยังบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai)

ขณะที่การเข้ามาช่วยค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ก็จะทำให้โครงการสินเชื่อซอฟต์โลนมีส่วนช่วยประคับประคองลูกหนี้ SMEs และบรรเทาผลกระทบที่มีต่อการจ้างงานได้มากขึ้น นอกจากนี้การส่งเสริมให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุกให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายก็จะเป็นการช่วยลดภาระให้กับของลูกหนี้ ลดโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งลูกหนี้และสถาบันการเงิน 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การขยายขอบเขตของมาตรการด้านสินเชื่อดังกล่าว รวมถึงการเร่งให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้หลังมาตรการพักชำระหนี้สิ้นสุดลงเป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องประเมินประสิทธิผลของมาตรการเป็นระยะ ๆ ซึ่งหากสถานการณ์เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปในระยะข้างหน้าก็อาจจะต้องมีมาตรการด้านการเงินอื่นออกมาเพิ่มเติม

กนง.

มาตรการที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยน่าจะช่วยดูแลประเด็นการแข็งค่าของเงินบาทได้ตรงจุดกว่า เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำมากแล้วในปัจจุบัน และกนง. น่าจะเก็บรักษาความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ไว้ใช้ในยามจำเป็นเพื่อดูแลเศรษฐกิจโดยรวม เพราะแนวโน้มในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูงและกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังต้องใช้เวลาอีกระยะในการฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทนับตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กนง. จะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในการประชุมรอบนี้ เพราะอาจมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้สัญญาณจากงานประชุมนักวิเคราะห์ล่าสุด (14 ต.ค.) สะท้อนว่า ธปท. ตระหนักถึงแรงกดดันด้านแข็งค่าของเงินบาทซึ่งเป็นแนวโน้มที่ยากจะหลีกเลี่ยง และอยู่ระหว่างเตรียมหลายมาตรการเพื่อสร้างความสมดุลให้กับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย

โดยเฉพาะการเพิ่มความยืดหยุ่นในการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และการผ่อนคลายเกณฑ์การเปิดบัญชีที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้คงจะดำเนินการควบคู่ไปกับการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทเพื่อลดความผันผวน และศึกษาความเหมาะสมของมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในระยะต่อไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสเผชิญกับอีกหลายปัจจัยเสี่ยงในระยะข้างหน้า ซึ่งกนง. สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมได้หากจำเป็น แม้ในกรณีพื้นฐาน กนง.น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า แต่คงต้องยอมรับว่า การดูแลให้เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจะยังเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายค่อนข้างมาก เนื่องจากขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของหลายปัจจัย อาทิ การระบาดซ้ำของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ สถานการณ์ทางการเมืองของไทย

วัคซีนโควิด-19 จีน
เจ้าหน้าที่ถือตัวอย่างวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย ณ บริษัท ซิโนวัค ไบโอเทค จำกัด ในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน วันที่ 16 มี.ค. 63

ตลอดจนประสิทธิผลและความเพียงพอของมาตรการด้านเศรษฐกิจที่ออกไป ดังนั้นคาดว่า กนง. จะติดตามปัจจัยเหล่านี้อย่างใกล้ชิด โดยหากเกิดสถานการณ์ที่พลิกผันจนมีผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ความจำเป็นของการผ่อนคลายนโยบายการเงินด้วยการปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมก็จะมีมากขึ้น ซึ่งคาดว่า ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวจะต้องมีการพิจารณาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้า FIDF หรือมาตรการอื่นๆ เพื่อบรรเทาแรงกดดันต่อสถาบันการเงินให้สามารถส่งผ่านต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลงไปยังลูกค้าได้  

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo