Finance

‘สภาทองคำโลก’ ชี้ ‘ความต้องการทองคำไทย’ ปี 66 โต 9% แกร่งสุดในอาเซียน

รายงาน “สภาทองคำโลก” ชี้ ปี 2566 ไทยมีความต้องการทองคำผู้บริโภค ขยายตัว 9% โตสุดในอาเซียน แรงหนุนจากความต้องการ “ทองคำแท่ง-เหรียญทองคำ” เพิ่มมากขึ้น ชดเชยความต้องการ “ทองรูปพรรณ” ลดลง 

สภาทองคำโลก ออกรายงาน “Gold Demand Trends” หรือ “แนวโน้มความต้องการทองคำ” ฉบับล่าสุด ที่ระบุว่า ในปี 2566 ไทยเป็นตลาดที่มีการเติบโตของความต้องการทองคำผู้บริโภค (Consumer Gold Demand) สูงที่สุดในอาเซียน เพิ่มขึ้นถึง 9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จาก 38.4 ตันในปี 2565 เป็น 42.1 ตันในปี 2566

สภาทองคำโลก

การเติบโตนี้เป็นผลมาจากความต้องการ “ทองคำแท่ง” และ “เหรียญทองคำ” เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีมากกว่าการปรับตัวลดลงของความต้องการทองคำแบบเครื่องประดับ โดยไทย ถือเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ ที่มีการเติบโตเป็นบวก

ในปี 2566 ไทยมีความต้องการทองคำแท่ง และเหรียญทองคำของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 13% จากจำนวน29 ตันในปี 2565 เป็น 32.9 ตันในปีที่แล้ว แต่ความต้องการยังคงถือว่าไม่สูง เมื่อเทียบกับในอดีตก่อนเกิดสถานการณ์ระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีค่าเฉลี่ยจากปี 2558-2562 อยู่ที่ 63 ตันต่อปี

นายเชาไค ฟาน หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าธนาคารกลางทั่วโลก ของสภาทองคำโลก ระบุว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนลงอย่างต่อเนื่องในปี 2566 ช่วยสนับสนุนความต้องการทองคำในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบาง

แต่สาเหตุของความต้องการที่ลดลงจากในอดีตอาจเนื่องมาจากความนิยมในแพลตฟอร์มการลงทุนทองคำออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการซื้อขายทองคำในระยะสั้นมากขึ้น และทำให้การลงทุนแบบ “ซื้อแล้วถือ” ระยะยาวลดลง

อย่างไรก็ดี แม้ไทยจะมีความต้องการ “ทองรูปพรรณ” ฟื้นตัวในไตรมาส 4 โดยเพิ่มขึ้นจาก 2.5 ตัน ในไตรมาส 3  มาอยู่ที่ 3.0 ตันในไตรมาส 4 แต่ยังไม่สามารถทำให้ปริมาณทั้งปีเติบโตเป็นบวกได้ โดยความต้องการตลอดทั้งปีลดลง 2% อยู่ที่ 9 ตัน แม้ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายนที่ผ่านมา เนื่องจากราคาทองคำลดลงก็ตาม

นายฟาน ชี้ว่า ในช่วงไตรมาส 4 ราคาสินค้าเกษตรของไทยที่สูงขึ้น กระตุ้นให้ความต้องการทองคำจากพื้นที่ชนบทเติบโตขึ้น หลังความต้องการตลอดทั้งปีมีปริมาณน้อยกว่าในพื้นที่เมือง

อย่างไรก็ตามปริมาณทองคำรีไซเคิลในตลาดเครื่องประดับไทย ได้เพิ่มขึ้นในปี 2566 เนื่องจากราคาทองคำที่สูงขึ้น ดึงให้มีการนำทองคำที่ถือครองอยู่ออกมา

ราคาทองเฉลี่ย ปี 2566 พุ่งทุบสถิติ

รายงานยังเปิดเผยด้วยว่า ภาพรวมความต้องการทองคำในระดับโลก ซึ่งไม่รวมการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ (Over-the-counter: OTC) ตลอดทั้งปี 2566 อยู่ที่จำนวน 4,448 ตัน ลดลง 5% จากปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่มีการเติบโตแข็งแกร่งเป็นพิเศษ

สภาทองคำโลก

แต่หากนำความต้องการจากการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ และแหล่งที่มาอื่น ๆ เข้ามารวมด้วยนั้น พบว่า ความต้องการโดยรวมของปี 2566 เพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดที่จำนวน 4,899 ตัน โดยการลงทุนจากแหล่งที่มาของความต้องการทองคำ ซึ่งไม่สามารถระบุชัดเจนเหล่านี้ สนับสนุนให้ราคาทองคำเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2566 พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

รายงานชี้ว่า การซื้อทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากปี 2565 ทำให้จำนวนความต้องการอยู่ที่ระดับ 1,037 ตันในปีที่ผ่านมา ผลักดันให้ยอดรวมตลอดทั้งปีสูงสุดเป็นอันดับ 2 จากที่มีการบันทึกมาทั้งหมด และลดลงเพียง 45 ตันเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ตรงกันข้ามกับความต้องการที่แข็งแกร่งในภาคการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ และธนาคารกลาง การไหลออกของการลงทุนจากกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF) ที่จัดเก็บทองคำแท่งสำหรับนักลงทุน ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในปี 2566 โดยลดลง 244 ตัน เป็นการปรับลดลงปีที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งการไหลออกของการลงทุนในยุโรปเป็นปัจจัยส่งอิทธิพลต่อภาพรวม

ทางด้านสถานการณ์ของทองคำแท่ง และเหรียญทองคำสำหรับการลงทุน พบว่า ความต้องการทั่วโลกลดลง 3% โดยความแข็งแรงของตลาดบางภูมิภาคได้ช่วยชดเชยความต้องการที่ลดลงในบางตลาด

ในตลาดอาเซียนประเทศอื่น ๆ รวมถึง เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ความต้องการทองคำแท่ง และเหรียญทองคำลดลง 2%, 4%, 5% และ 8% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

เช่นเดียวกับระดับความต้องการจากยุโรปที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลง 59% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ปริมาณที่ลดลงนี้ถูกชดเชยด้วยการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจากจีนหลังสถานการณ์โควิด โดยเพิ่มขึ้น 28% เป็น 280 ตัน สนับสนุนด้วยการเติบโตที่โดดเด่นจาก ศอินเดีย (185 ตัน) ตุรกี (160 ตัน) และสหรัฐ (113 ตัน)

ขณะที่ ตลาดทองคำรูปพรรณทั่วโลก มีความต้องการเพิ่มขึ้น 3 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยได้พิสูจน์แล้วว่า ตลาดมีความแข็งแกร่งเป็นอย่างมาก แม้ราคาทองคำจะสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยจีนมีบทบาทสำคัญ และมีความต้องการทองรูปพรรณเพิ่มขึ้นถึง 17% ภายหลังการฟื้นตัวจากการล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19 ซึ่งช่วยชดเชยกับปริมาณที่ลดลง 9% ในประเทศอินเดีย

สภาทองคำโลก

การผลิตทองคำจากเหมืองแร่ค่อนข้างทรงตัวในปี 2566 เพิ่มขึ้น 1% ในขณะที่ปริมาณการรีไซเคิลเพิ่มขึ้น 9% ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าการคาดการณ์เนื่องจากราคาทองคำที่สูง ทำให้อุปทานโดยรวมทั้งหมดเพิ่มขึ้น 3%

นายหลุยส์ สตรีท นักวิเคราะห์การตลาดอาวุโส ของสภาทองคำโลก แสดงความเห็นว่า ความต้องการที่ไม่เปลี่ยนแปลงของธนาคารกลาง ช่วยสนับสนุนปริมาณความต้องการทองคำในปี 2566 อีกครั้ง และช่วยชดเชยความอ่อนแอในตลาดภาคส่วนอื่น ๆ ทำให้ความต้องการทองคำปี 2566 อยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 10 ปี

“ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์” หนุนความต้องการทองคำปี 2567 

สภาทองคำโลก บอกด้วยว่า นอกเหนือจากนโยบายการเงินแล้ว ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ มักจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของปริมาณความต้องการทองคำ และในปี 2567 คาดว่า สิ่งนี้จะส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อตลาด ความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ ความตึงเครียดทางการค้า และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นมากกว่า 60 ครั้งทั่วโลก มีแนวโน้มที่จะกระตุ้นให้นักลงทุนหันมาหาทองคำ เนื่องจากได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

ขณะที่นายสตรีท กล่าวเสริมว่า ธนาคารกลางมักอ้างอิงถึงผลการลงทุนในทองคำช่วงที่เกิดวิกฤติ เป็นเหตุผลในการซื้อ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ความต้องการจากภาคส่วนนี้จะยังคงสูงต่อไปในปีนี้ และอาจช่วยชดเชย กับความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลง เนื่องจากราคาทองคำที่สูงขึ้น และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo